‘หมอล็อต’ เผยเรื่องราวประทับใจรักษา 'ช้างป่า' ผ่านไป 12 ปียังจำกันได้
‘หมอล็อต’ เผยเรื่องราวสุดประทับใจรักษาช้างป่าป่วยด้วยโรคปรสิตในเลือด ผ่านไป 12 ปีกลับมาเจอกันอีกครั้งยังจำกันได้
วันนี้ ( 13 มี.ค. 64 )นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดเผยเรื่องราวสุดประทับใจเกี่ยวกับช้างป่าโดยระบุข้อความว่า “เราจำกันได้...ประหลาดใจ 12 ปี หลังจากที่รักษาช้างป่าตัวนี้ เคสแรกในช้างป่า จากการป่วยด้วยโรค Trypanosomiasis คือโรคปรสิตในเลือด เกิดจากเชื้อโปรโตซัวชนิดที่พบในกระแสโลหิตของสัตว์คือเชื้อ Trypanosoma evansi ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด
อาการทั่วไปที่พบได้แก่ มีไข้ เบื่ออาหาร ผอมโซ บวมน้ําโดยเฉพาะบริเวณ คาง คอหรือท้อง ตาอักเสบหรือขุ่น ขาแข็ง หลังแข็ง คอบิด โลหิตจางอาจตายอย่างเฉียบพลันได้ และที่สำคัญ เป็นโรคอันตราย สามารถติดสู่ช้างป่าและสัตว์ป่าตัวอื่นๆได้ ใช้เวลารักษานาน ซึ่งโรคนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมชัดเจน พอร่างกายอ่อนแอ สู้ช้างตัวอื่นไม่ได้ ก็เริ่มออกนอกพื้นที่ ไกลที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมากว่าจะเข้าถึงตัวเพื่อรักษาได้ ก็ชิงไหวชิงพริบอยู่นานมาก ช้างป่าตัวนี้ฉลาดสุดๆ มีเรื่องเหลือเชื่อเกิดขึ้นมากมาย
ล่าสุด ได้มาเจอกันอีกครั้ง เราจำกันได้...ทักทายกัน (วินาทีที่สัมผัสกัน ผมได้ยินเสียงร้องของช้างป่าตัวนี้ ในโทนเสียงที่ไม่เคยได้ยินจากช้างตัวไหนมาก่อน ประหลาดใจ)13 มีนาคม วันช้างไทย รักช้างอย่าลืมให้กำลังใจคนทำงานกับช้าง ในความเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์นะครับ”