กรมทะเล-กรมอุทยานฯ เร่งล่าตัวคนเลาะเขี้ยวพะยูนเกยตื้นตาย จ.กระบี่

กรณีพะยูนเกยตื้นตายบริเวณอ่าวโล๊ะใหญ่ จ.กระบี่ ซ้ำถูกคนตัดเลาะเขี้ยวทั้ง 2 ข้างออก ทำให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบ และสืบหาผู้กระทำผิดรับโทษตามกฎหมาย

กรมทะเล-กรมอุทยานฯ เร่งล่าตัวคนเลาะเขี้ยวพะยูนเกยตื้นตาย จ.กระบี่

สรุปข่าว

ประชากรพะยูนน่าห่วง "เฉลิมชัย" สั่งกรมทะเล-กรมอุทยานฯ ล่าตัวคนเลาะเขี้ยวจากพะยูนเกยตื้นตาย จ.กระบี่

โดย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ผู้เลาะเขี้ยวทั้ง 2 ข้าง จากซากพะยูนเกยตื้นตาย เพื่อนำไปขาย อันเป็นความเชื่อแบบผิด ๆ ที่ว่าเขี้ยวพะยูนและน้ำตาพะยูน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า น้ำตาดุหยง รวมถึงไขมันสามารถนำไปทำเป็นยาเสน่ห์ ซึ่งมีการซื้อขายกันในราคาที่ค่อนข้างสูง 


ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว ร่วมกับ ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และหน่วยงานในพื้นที่ บูรณาการความร่วมมือในการทำงานร่วมกับเครือข่ายอย่างเข้มข้น เพื่อเร่งสืบเสาะแสวงหาข้อมูลเชิงลึกของผู้กระทำผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมาย โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกับกำลังพลในท้องถิ่นเพื่อผนึกกำลังร่วมกันในการสืบสวนข้อมูลเชิงลึกและตรวจสอบหากระบวนการลักลอบตัดเขี้ยวพะยูน 


นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน ทส. ได้เรียกประชุมเร่งด่วนเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์พะยูนเกยตื้นในปัจจุบัน และการดำเนินมาตรการร่วมกันเพื่อป้องกันและแก้ไขการตายของพะยูน ได้มอบให้หน่วยงานในพื้นที่จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือชีวิตพะยูนที่ติดเครื่องมือประมงแก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อลดการตายของพะยูนจากกิจกรรมของมนุษย์ ตลอดจนขยายเครือข่ายในพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้น ช่วยกันสอดส่องดูแลและเป็นหูเป็นตาคอยแจ้งเบาะแสเมื่อพบพะยูนเจ็บป่วยและเกยตื้น หรือพบการกระทำผิดต่อสัตว์ทะเลหายาก พร้อมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ผู้ประกอบการนำเที่ยว ประมงชายฝั่ง และนักท่องเที่ยว ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และชะลอความเร็วเรือลงขณะเข้าปากร่องน้ำ หรือเข้าใกล้พื้นที่แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งทางศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน ทส. ได้ติดตั้งทุ่นธงสีเหลือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงแนวเขตชะลอความเร็วเรือ อยู่บริเวณขอบเขตแหล่งหญ้าทะเล




สำหรับสาเหตุการตายของพะยูนในช่วงระหว่างปี 2562 - 2568 พบว่า อันดับหนึ่ง พะยูนเกือบ 3 ใน 4 ตายจากการป่วยและขาดอาหาร จึงต้องเร่งดูแลและฟื้นฟูแหล่งหญ้า ขณะที่พะยูนอีก 1 ใน 4 ตายจากเครื่องมือประมงและการสัญจรทางน้ำ ซึ่งต้องใช้มาตรการคุ้มครองในพื้นที่พะยูนอาศัยอยู่ และสุดท้ายพบแนวโน้มปัญหาการป่วย ขาดอาหาร ติดเครื่องมือประมง ถูกเรือชน เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


 


อธิบบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งเตือนผู้ที่ครอบครองซากชิ้นส่วนของพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์น้ำชนิดแรกของประเทศไทย ที่ถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน หากผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนจะมีโทษตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 

โดยมาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง , มาตรา 89 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 12 ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าสงวน ซากสัตว์ป่าสงวน หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าสงวนจำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 300,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือ หากผู้ใดพบเห็นหรือมีเบาะแสคนตัดเขี้ยวพะยูน สามารถแจ้งข้อมูลทางลับได้ที่หมายเลข 1362 สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล