สรุปดรามา! บุฟเฟ่ต์แซลมอน "ดารุมะ ซูชิ" ขายวอชเชอร์ 199 บาท ก่อนปิดร้านทุกสาขา
สรุปม้วนเดียวจบ ดรามา "ร้านบุฟเฟต์แซลมอน" เปิดขายวอชเชอร์ราคา 199 บาท ล่าสุดปิดร้าน ปิดเพจเฟซบุ๊ก ลูกค้าหวั่นไม่ได้ใช้วอชเชอร์ ด้าน สคบ.เตรียมเรียกเจ้าของบริษัทมาชี้แจง
กระแสดรามาร้อนๆ เมื่อทาง "ดารุมะ ซูชิ" (Daruma Sushi) ร้านบุฟเฟต์แซลมอนชื่อดัง ซึ่งมีอยู่หลายสาขาในห้างดังต่าง ๆ เปิดจำหน่ายวอชเชอร์ (Voucher) หรือ คูปองล่วงหน้า ในราคาใบละ 199 บาท โดยมีเงื่อนไขต้องซื้อ 5 ใบขึ้นไป ทำให้ลูกค้าให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
แต่แล้วจู่ๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาร้านปิด โดยแจ้งว่าปรับปรุงระบบ ก่อนเพจเฟซบุ๊กของหลายได้ปิดลงเช่นกัน ทำให้เกิดคำถามมากมายจากลูกค้าว่าเกิดอะไรขึ้น และกังวลว่าวอชเชอร์ที่ซื้อมานั้น อาจจะไม่ได้ใช้แล้ว
วันนี้ TNN ONLINE สรุปม้วนเดียวจบ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุดรามา ดังนี้
เปิดขายวอชเชอร์ “บุฟเฟต์แซลมอน” ราคาใบละ 199 บาท
ก่อนหน้านี้ “ดารุมะ ซูชิ" (Daruma Sushi) ร้านบุฟเฟต์แซลมอนชื่อดัง เปิดจำหน่ายวอชเชอร์ (Voucher) หรือ คูปองล่วงหน้า ในราคาใบละ 199 บาท ผ่านแอปพลิเคชั่น โดยมีเงื่อนไขต้องซื้อ 5 ใบขึ้นไป ทำให้ลูกค้าให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันราคาแซลมอนพุ่งสูง แต่ราคาวอชเชอร์ที่ทางร้านขายราคาไม่สูงมากนัก จนหลายคนได้ทำการซื้อไว้หลายใบ
ส่อแวววอชเชอร์ทิพย์ พบทุกสาขาปิดให้บริการ
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา ลูกค้า ที่อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊ก "กลุ่มคนรักบุฟเฟต์ (Buffet Lovers)" โพสต์ข้อความตั้งคำถาม หลังร้าน "ดารุมะ ซูชิ" (Daruma Sushi) ซึ่งมีอยู่หลายสาขาในห้างดังต่าง ๆ นั้นได้ปิดปรับปรุงไม่มีกำหนด อีกทั้งร้านยังได้มีการเก็บข้าวของบางส่วนและไม่สามารถติดต่อได้ จึงหวั่นว่าจะซ้ำรอยร้านบุฟเฟต์ซีฟู้ดเจ้าดังหรือไม่
ขณะเดียวกัน สมาชิกในกลุ่มดังกล่าวที่เตรียมตัวจะไปใช้บริการที่ร้าน ก็มาโพสต์แจ้งว่าร้านยังเปิดจริงๆ พร้อมทั้งถ่ายภาพสภาพร้านล่าสุดมาลงบนโลกออนไลน์
ผู้จัดการสาขา เปิดใจไม่รู้มาก่อน เจ้าของบริษัทออกจากกลุ่มไลน์ ไม่มีใครติดต่อได้
ในกลุ่มเฟซบุ๊ก "กลุ่มคนรักบุฟเฟต์ Buffet Lovers" ได้มีสมาชิกรายหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าเป็น "ผู้จัดการสาขา" ร้านดังกล่าว ได้ยืนยันว่าพนักงานร้าน - เจ้าของแฟรนไชส์ ไม่รู้มาก่อนว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ จู่ ๆ เจ้าของบริษัทดีดตัวเองออกจากไลน์กลุ่มทั้งหมด ติดต่อไม่ได้ ตนและคนอื่น ๆ เพิ่งทราบเรื่องในเช้าวันที่ 17 มิ.ย.65 ที่เจ้าของบริษัทออกจากกลุ่มไลน์ทั้งหมด ไม่มีใครติดต่อเขาได้ ทางกลุ่มผู้จัดการจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรต่อดีก่อนจะได้มติว่าปิดให้บริการ 1 วัน เพราะยังมีความหวังว่าจะติดต่อเจ้าของบริษัทได้
คำตอบที่ว่า "ระบบส่วนกลางล่ม" เป็นคำตอบที่คิดขึ้นได้ในขณะนั้นที่ทางลูกค้ากระหน่ำโทร. เข้ามาสอบถาม เพราะไม่รู้ว่าจะให้คำตอบยังไงดี ถ้าตอบว่าติดต่อผู้บริหารไม่ได้ก็กลัวจะมีผลต่อหน้าที่การงานในอนาคต และที่ปิดทุกสาขาเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของกลุ่มผู้จัดการเพราะซัพพลายเออร์ไม่ส่งวัตถุดิบให้ แถมบริษัทยังมีหนี้เก่าค้าง
ทางผู้จัดการร้านตัดสินใจปิดร้านเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากซัพพลายเออร์ไม่ส่งวัตถุดิบให้ เพราะบริษัทยังมีหนี้เก่าติดค้าง เมื่อไม่มีวัตถุดิบแล้วจะเปิดร้านยังไง ส่วนที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมพนักงานยังเงียบอยู่ก็ขอถามกลับว่าถ้ามาเป็นพนักงานเหมือนกันบ้างจะทำอะไรได้บ้าง หรือมีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม ใครมีความรู้เรื่องสิทธิแรงงานขอความเมตตาชี้แนะ
ผู้จัดการสาขาบอกอีกว่าทำงานมา 3 ปี บริษัทไม่มีฝ่ายบุคคล บัญชี หรือทีมบริหาร ไม่เคยประสานงานกับฝ่ายดังกล่าว ทำเองทุกอย่างหมด การตัดสินใจทุกอย่างอยู่ที่เจ้าของบริษัท เมื่อเขาหายไปก็ล้มทั้งระบบ แนะนำลูกค้าที่ซื้อคูปองไว้แล้วกังวลว่าจะถูกฉ้อโกงให้ไปแจ้งความได้เลย ไม่ต้องโทร. เข้าสาขาเพราะพนักงานก็ไม่มีคำตอบให้แม้แต่อนาคตของตัวเอง
นอกจากนี้ผู้จัดการสาขายังฝากไปถึงเจ้าของบริษัทที่ตนเองเรียกว่า "บอส" ว่า ถ้าบอสได้มาอ่านก็อยากให้มาแก้ปัญหา เผชิญความจริง เชื่อว่าเรื่องนี้มีทางออกที่ดีกว่านี้ ตนยังไม่ลืมวิกฤตโควิด 19 รอบแรกที่ได้มาทำงานกับบริษัทนี้ บอสก็อ้าแขนรับไว้เป็นเจ้านายที่ดีมาก ๆ ตนรู้ว่าบริษัทไม่ได้มีกำไร บอสพูดเสมอว่าสู้เพื่อลูกน้อง เพื่อให้มีการจ้างงาน จนถึงวันนี้ที่นึกบอสก็ยังไม่ความโกรธเกลียด ยังรักเหมือนเดิม
ผู้ซื้อแฟรนไชส์ แจ้งความดำเนินคดี ชี้การจัดโปรโมชั่น เป็นการดำเนินการโดยบริษัทเอง
ขณะที่ บัญชีเฟซบุ๊ก “Krittharawee Arys Pichitpongchai” โพสต์ข้อความว่า ขออนุญาตชี้แจงเรื่องร้าน “ดารุมะซูชิ” ที่เพชร ได้ซื้อแฟรนไชส์มา ทั้งหมด 6 สาขา ขณะนี้ เพชรและเจ้าของสาขาต่างๆ อีก 10 กว่าสาขา ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รวมตัวกันรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทดารุมะและผู้บริหาร
โดยทางเพชรและผู้เสียหายที่ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ ได้ทำการลงเงินเพื่อเปิดสาขา โดยมีบริษัทดารุมะเป็นผู้บริหารจัดการ และเป็นคนดูแลบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งหมดเเต่เพียงผู้เดียว และจะปันผลเป็นรายเดือนให้กับผู้ลงทุน การจัดโปรโมชั่นต่างๆ เป็นการดำเนินการโดยผู้บริหารบริษัทดารุมะ ซึ่งทางผู้ลงทุนไม่มีส่วนในการบริหารจัดการ ณ เวลานี้ทางกลุ่มผู้ลงทุนพยายามติดต่อผู้บริหารบริษัทดารุมะเพื่อรอฟังคำชี้แจง
บริษัททำแอปฯ สั่งปิดแอปฯ แล้ว หวั่นคนซื้อเพิ่ม ยันไม่มีเอี่ยว
ด้าน เจ้าของบริษัท IT Provider ที่ “ดารุมะ ซูชิ” ว่าจ้างให้สร้าง และพัฒนาแอปฯ โพสต์ข้อความระบุว่า หลังจากเห็นข่าวหลายช่อง และทาง สคบ. ให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทันที จึงได้ติดต่อสายด่วนไปเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ปิด จึงได้ไปสถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันแล้ว และพร้อมส่งมอบข้อมูลทันที
ดารุมะตอนนี้ ไม่มีอีวอชเชอร์แล้ว ตัวเลขคูปองจะโชว์ในแอปฯ หากท่านใด log out จะกลายเป็นศูนย์ หลักฐานจะหายไป และ log in ไม่ได้ เนื่องจากระบบปิดหมด เพราะเกรงคนจะซื้อเพิ่ม และจะมีผู้เสียหายเพิ่มเติม
ตนรู้สึกตกใจ เพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ และยินดีแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้มีส่วนร่วม พร้อมส่งมอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ สคบ.
ผลกระทบวอชเชอร์ทิพย์ ลูกค้า-นักลงทุน อ่วม
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ลูกค้าหลายรายที่ซื้อวอชเชอร์ไว้ ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายทั้งหมดได้ ส่วนนักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดนั้น ราคาซื้ออยู่ที่ประมาณ 2-2.5 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าเช่า ค่าตกแต่งสถานที่ ขณะที่ พนักงานในร้านยังไม่ทราบชะตากรรมว่าจะได้รับเงินเดือนหรือไม่ เนื่องจากเจ้าของแฟรนไชส์ยังขาดการติดต่อ
สคบ.ลุยเอาผิดร้านบุฟเฟต์แซลมอน
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุว่า กรณีดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดด้านสัญญาที่ชัดเจน เพราะขายวอชเชอร์ แล้วเปิดให้บริการไม่ได้ โดย สคบ.จะเรียกเจ้าของร้านบุฟเฟ่ต์แซลมอนชื่อดัง ให้มาชี้แจงข้อเท็จจริง รวมไปถึงรายละเอียดของการเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 20 มิ.ย.65 นี้
อย่างไรก็ตาม สคบ.ขอแจ้งไปยังผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ขอให้เก็บหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อคูปองล่วงหน้าหรือวอยเชอร์ หลักฐานการคุยกันในแอปพลิเคชั่น / แชท Chat หากชำระเงินผ่านบัตรเครดิตขอให้ผู้บริโภคติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อขอคืนเงินโดยด่วน
ช่องทางร้องเรียน
https://ocpbconnect.ocpb.go.th/
สำหรับรายชื่อสาขาร้านดารุมะ ซูชิ ได้แก่ 1.แจ๊ส คู้บอน 2.แจ๊ส ศรีนครินทร์ 3.ดิอัพ พระราม 3 4.เดอะมอลล์ บางกะปิ 5.บิ๊กซี พระราม 2 6.พาซิโอ ลาดกระบัง 7.เมเจอร์ รังสิต 8.ห้างสุขอนันต์ 9.อินท์ อินเตอร์เซ็ก 10.แจ๊ส รามอินทรา 11.เฉลิมพระเกียรติ 55
12.ดิ เอ็กเพลส มอล์ 13.เดอะมอลล์ รามคำแหง 14.บิ๊กซี ราชดำริ 15.พาราไดซ์ พาร์ค 16.เมเจอร์ รัชโยธิน 17.อมอรินี่ สวนสยาม 18.อุดมสุข 58 19.แจ๊ส วังหิน 20.เซียร์ รังสิต 21.เดอะ คริสตัล เอกมัย รามอินทรา 22.บิ๊กซี บางใหญ่ 23.พาซิโอ้ กาญจนาภิเษก 24.มาร์เก็ตวิลเลจ สุวรรณภูมิ 25.สายไหม 26.อ่อนนุช 39 และ 27.เอมปาร์คจุฬา
อย่างไรก็ตาม หากมีความคืบหน้าจากฝั่งเจ้าของร้านดารุมะ ซูชิ จะรายงานให้ทราบอีกครั้ง.