
โลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยรายงานด้านสภาพภูมิอากาศที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในโลก ระบุว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่ากังวลซึ่งควรเป็นสัญญาณเร่งด่วนให้ทั่วโลกดำเนินมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง แต่กลับพบว่าผู้นำโลกหลายคนยังขาดความเร่งรีบในการจัดการกับปัญหานี้
รายงานเปิดเผยว่าระดับก๊าซเรือนกระจกหลักอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 800,000 ปี ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออุณหภูมิของโลก ปี 2024 ได้รับการบันทึกว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลเมื่อ 175 ปีก่อน โดยทำลายสถิติก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้นในปี 2023 อุณหภูมิในปีนี้คาดว่าจะเป็นครั้งแรกที่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 1850-1900 แม้ว่านี่ยังไม่ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงปารีสโดยถาวร แต่ก็เป็นสัญญาณว่าจุดอันตรายเข้าใกล้มากขึ้นเรื่อย ๆ
สาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกมาจากระดับก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญยังทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นชั่วคราว โดยทำให้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกอุ่นขึ้น ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนทางสภาพอากาศในหลายพื้นที่ทั่วโลก
แนวโน้มของภาวะโลกร้อนยังสะท้อนผ่านอุณหภูมิของมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน มหาสมุทรดูดซับความร้อนส่วนเกินจากชั้นบรรยากาศถึง 90% ทำให้อัตราการเพิ่มของอุณหภูมิมหาสมุทรในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สูงเป็นสองเท่าของอัตราเฉลี่ยในช่วงปี 1950-2005 ผลที่ตามมาคือปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงขึ้น การเพิ่มขึ้นของพายุโซนร้อน และการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่รวดเร็วขึ้น

สรุปข่าว
ขณะเดียวกัน ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา รายงานระบุว่าตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการวัดด้วยดาวเทียม อัตราการเพิ่มของระดับน้ำทะเลได้เพิ่มขึ้นสองเท่า จาก 2.1 มิลลิเมตรต่อปี ในช่วงปี 1993-2002 เป็น 4.7 มิลลิเมตรต่อปี ในช่วงปี 2015-2024 การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ชายฝั่ง ทำให้เกิดน้ำท่วม การกัดเซาะชายฝั่ง และการปนเปื้อนของน้ำเค็มในแหล่งน้ำจืด
การละลายของธารน้ำแข็งก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานของวิกฤตโลกร้อน 3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ธารน้ำแข็งทั่วโลกสูญเสียมวลน้ำแข็งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน หมู่เกาะสวาลบาร์ด และเทือกเขาแอนดีส ซึ่งมีอัตราการละลายของน้ำแข็งที่รุนแรงกว่าปกติ
ปี 2024 ยังถูกบันทึกว่าเป็นปีที่มีประชากรต้องอพยพหนีภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดในรอบ 16 ปี ปรากฏการณ์พายุโซนร้อน น้ำท่วม คลื่นความร้อน ไฟป่า และภัยแล้ง ส่งผลให้ประชาชนหลายสิบล้านคนต้องพลัดถิ่น หลายประเทศต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในซาอุดีอาระเบียที่มีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียสระหว่างพิธีฮัจญ์ ขณะที่ในบางประเทศ พบว่ามีประชากรอย่างน้อยหนึ่งล้านคนที่เผชิญภาวะขาดแคลนอาหารมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2023
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเตือนว่า มาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จนถึง Net Zero อาจไม่เพียงพออีกต่อไป ด้านศาสตราจารยซาราห์ เพอร์กินส์-เคิร์กแพทริก จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า "เราไม่สามารถกดปุ่มเลื่อนปลุก (Snooze) กับวิกฤตโลกร้อนนี้ได้อีกต่อไป เพราะตอนนี้โลกของเรากำลังทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดซ้ำแล้วซ้ำเล่า"
แม้จะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ความพยายามของรัฐบาลและภาคธุรกิจทั่วโลกยังไม่มากพอ นักวิทยาศาสตร์ย้ำว่าหากไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังในปีนี้ รายงานปีหน้าจะต้องถูกพูดซ้ำอีก และสถานการณ์จะเลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่

กองบรรณาธิการ TNN