TNN สปสช.ไฟเขียวร่างประกาศฯฉบับใหม่ แก้ปัญหา "บัตรทอง" ถูกเรียกเก็บเพิ่ม

TNN

สังคม

สปสช.ไฟเขียวร่างประกาศฯฉบับใหม่ แก้ปัญหา "บัตรทอง" ถูกเรียกเก็บเพิ่ม

สปสช.ไฟเขียวร่างประกาศฯฉบับใหม่ แก้ปัญหา บัตรทอง ถูกเรียกเก็บเพิ่ม

บอร์ด สปสช. ไฟเขียวร่างประกาศฯฉบับใหม่เพิ่มความชัดเจนสิทธิประโยชน์ “บัตรทอง” ระบุชัดบริการใดครอบคลุม-ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย แก้ปัญหาการถูกเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติม

วันนี้( 3 พ.ย.64) ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2564 โดยมอบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอประธานกรรมการเพื่อพิจารณาลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

สำหรับ (ร่าง) ประกาศฯ ฉบับนี้ สืบเนื่องมาจากมติบอร์ด สปสช.ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2563 ที่ได้เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีประชาชนถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งหน่วยบริการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ (Extra Billing) โดยได้มอบคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข ทำความชัดเจนเรื่องสิทธิประโยชน์ และทบทวนระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้อง พร้อมมอบคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน ปรับปรุงระบบสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดเงื่อนไขที่ทำให้เกิด Extra Billing

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข เปิดเผยว่า (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ.2564 เป็นการทบทวนระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2544 และรวบรวมประกาศคณะกรรมการฯ ที่เคยมีมาตั้งแต่ปี 2546 รวมกว่า 31 ฉบับ มาจัดกลุ่มและรวมในฉบับเดียวกันประเภทใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าครอบคลุมค่าใช้จ่ายในบริการใดบ้าง รวมทั้งบริการใดบ้างที่ไม่ครอบคลุม

ในส่วนของเนื้อหาภายใต้ (ร่าง) ประกาศฯ ฉบับนี้ ได้บรรจุประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ซึ่งบุคคลมีสิทธิจะได้รับรวม 13 รายการ ได้แก่

1. บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

2. การตรวจวินิจฉัยโรค 

3. การตรวจและรับฝากครรภ์ 

4. การบำบัดและการบริการทางการแพทย์ 

5. ยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ 

6. การทำคลอด 

7. การกินอยู่ในหน่วยบริการ 

8. การบริบาลทารกแรกเกิด 

9. บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วย 

10. บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ 

11. การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ 

12. บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ 

13. บริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดเพิ่มเติม

ขณะที่บริการสาธารณสุขที่ไม่อยู่ในประเภทและขอบเขตของบริการและไม่สามารถรับค่าใช้จ่ายได้ คือ 

1. การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 

2. การตรวจวินิจฉัยและการรักษาใดๆ ที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 

3. การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง 

4. การปลูกถ่ายอวัยวะที่ไม่ปรากฎตามบัญชีแนบท้าย 

5. การบริการทางการแพทย์อื่นตามที่บอร์ด สปสช. กำหนด

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า ส่วนกรณีการป้องกันไม่ให้เกิด Extra Billing ประกาศฉบับนี้ได้มีการเพิ่มความชัดเจนในข้อที่ระบุไว้ว่า บุคคลผู้มีสิทธิที่เข้ารับบริการตามประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่กำหนดในประกาศนี้ จะได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ยกเว้นเฉพาะกรณี 

1. เป็นการร่วมจ่ายค่าบริการตามประกาศฯ ว่าด้วยการร่วมจ่าย 

2. เป็นการบริการที่เป็นข้อยกเว้น ไม่คุ้มครองตามที่กำหนด 

3. เป็นการเข้ารับบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตน หรือหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการส่งต่อ หรือไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน

“ส่วนบริการที่เคยเป็นข้อยกเว้น และได้รับการเสนอให้เป็นสิทธิที่จะได้รับในฉบับนี้ เช่น การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดที่มีกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด การบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุการประสบภัยจากรถที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ การรักษาภาวะมีบุตรยากและการผสมเทียม ยกเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทน (Surrogacy) และการรักษาโรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน เกินกว่า 180 วัน” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว


ข้อมูลจาก สปสช.

ภาพจาก TNN Online

ข่าวแนะนำ