TNN อ.ธรณ์ เปิดภาพฮีลใจ เกาะสมุย หญ้าทะเลขยายพื้นที่เพิ่ม ความหวังฟื้นวิกฤตหญ้าทะเล

TNN

สังคม

อ.ธรณ์ เปิดภาพฮีลใจ เกาะสมุย หญ้าทะเลขยายพื้นที่เพิ่ม ความหวังฟื้นวิกฤตหญ้าทะเล

อ.ธรณ์ เปิดภาพฮีลใจ เกาะสมุย หญ้าทะเลขยายพื้นที่เพิ่ม ความหวังฟื้นวิกฤตหญ้าทะเล

วิกฤตหญ้าทะเลไม่ได้เกิดทุกที่ ล่าสุด "อ.ธรณ์" เปิดภาพฮีลใจ ดงหญ้าทะเลเกาะสมุยขยายพื้นที่เพิ่ม ความหวังฟื้นวิกฤตหญ้าทะเล

ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญนิเวศทางทะเล รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสตเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุข้อความ "วิกฤตหญ้าทะเลไม่ได้เกิดทุกที่ จะพาเพื่อนธรณ์ไปดูจุดที่หญ้าเพิ่มขึ้น เพื่อฮีลใจกันบ้าง"


อันดามันมีปัญหาหญ้าทะเลหนัก แต่ข้ามมาฝั่งอ่าวไทยที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้ยังยิ้มได้ โดยนำภาพดาวเทียมเปรียบเทียบแหล่งหญ้าทะเลปี 2547 และปี 2566 จะเห็นว่าเกือบ 20 ปีผ่านไป ดงหญ้าขยายตัวใหญ่ขึ้นเห็นได้ชัด (ปื้นดำ)


"ผมนำภาพหญ้าที่ไปสำรวจภาคสนามมาให้ดูด้วย เป็นการสำรวจล่าสุดของหน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในขณะที่หญ้าคาทะเล (ชะเงาใบยาว) ที่อื่นมีปัญหาใบสั้นกุดเหลือแต่ตอรากเน่า แต่ที่นี่ยังสดชื่นแจ่มใสใบยาวสวย"


อ.ธรณ์ เปิดภาพฮีลใจ เกาะสมุย หญ้าทะเลขยายพื้นที่เพิ่ม ความหวังฟื้นวิกฤตหญ้าทะเล


คำถามสำคัญคือเพราะอะไร ?


อ.ธรณ์ ระบุ คิดว่าสภาพภูมิศาสตร์แต่ละพื้นที่เกี่ยวข้องอย่างมาก จุดนี้มีคันหินซากปะการังตายที่คลื่นพัดมาสะสม กลายเป็นเขื่อนกันคลื่นตามธรรมชาติอยู่ด้านนอก ภายในจึงเป็นแอ่งน้ำนิ่งแสนสุขสำหรับบรรดาหญ้าทะเลชนิดต่าง ๆ คลื่นพัดตะกอนจากข้างนอกเข้ามาไม่ได้ หญ้าไม่เจอปัญหาทรายกลบ ตอนช่วงน้ำลงต่ำมาก ๆ น้ำบางส่วนยังขังอยู่ พื้นไม่แห้งผากจนใบหญ้าไหม้ หรือใต้ดินร้อนจัดจนรากเน่า องค์ประกอบของพื้นเป็นทรายปนเศษปะการัง มีแนวปะการังด้านนอก ค่อนข้างสมดุล สภาพพื้นที่ไม่เปลี่ยนง่าย 


นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังต้องหากันต่อไป และสำคัญมาก เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้ว่า หากจะฟื้นฟูหญ้าทะเล ควรทำที่ตรงไหน ต้องดูปัจจัยอะไรที่ปลูกแล้วรอด แต่ปัญหาคือพื้นที่แบบนี้ไม่ได้หากันง่าย ๆ บางแห่งอยู่ไม่ไกล แต่สภาพต่างกันก็เริ่มมีปัญหา


อ.ธรณ์ เปิดภาพฮีลใจ เกาะสมุย หญ้าทะเลขยายพื้นที่เพิ่ม ความหวังฟื้นวิกฤตหญ้าทะเล


ท้ายโพสต์ อ.ธรณ์ จึงอยากฝากคนสมุยช่วยดูแล เพราะบริเวณนั้นอาจเป็นแหล่งหญ้าทะเลสมบูรณ์แห่งท้าย ๆ ของไทย และยังอาจเป็นความหวังสำหรับต้นพันธุ์ในอนาคตที่สำคัญมาก


ข้อมูลและภาพ : เฟซบุ๊ก ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ / Thon Thamrongnawasawat

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง