TNN คาดภาคใต้ฝนหนักต่อเนื่องต.ค.- ม.ค.68 เปิดศูนย์ฯส่วนหน้า จ.ยะลา ชี้เป้าจุดเสี่ยง-เตือนภัย

TNN

สังคม

คาดภาคใต้ฝนหนักต่อเนื่องต.ค.- ม.ค.68 เปิดศูนย์ฯส่วนหน้า จ.ยะลา ชี้เป้าจุดเสี่ยง-เตือนภัย

คาดภาคใต้ฝนหนักต่อเนื่องต.ค.- ม.ค.68 เปิดศูนย์ฯส่วนหน้า จ.ยะลา ชี้เป้าจุดเสี่ยง-เตือนภัย

สทนช. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ที่ จ.ยะลา เตรียมรับมือฝนตกต่อเนื่องและตกกระจายทั่วภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง โดยใช้กลไกเชื่อมโยงกับคณะกรรมการลุ่มน้ำในทุกลุ่มน้ำของภาคใต้เพื่อดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  เปิดเผยว่า สทนช.ได้เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นการดำเนินงานเชิงรุก หลังคาดการณ์ว่าตั้งแต่เดือน ต.ค. - ธ.ค. 67 หรืออาจจะถึงเดือน ม.ค. 68 มีแนวโน้มที่จะมีฝนตกต่อเนื่องในปริมาณมาก โดยมีฝนตกกระจายตั้งแต่ภาคใต้ตอนบนจนถึงภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้มีความเสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม เพื่อเป็นการรับมือกับฝนที่จะตกแบบกระจายในหลายพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำในภาคใต้ของปีนี้จะใช้กลไกการเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างศูนย์ฯ ส่วนหน้าไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำในทุกลุ่มน้ำของภาคใต้ เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถป้องกันและลดผลกระทบให้ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ส่วนหน้าจะประชุมเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน โดยจะมีการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือได้อย่างทันท่วงที และจะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะมีการเตรียมจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวล่วงหน้าเพื่อเตรียมรองรับการอพยพในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะมีการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน ทั้งในด้านอาหารและสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมถึงดูแลในด้าน

ความปลอดภัยและสุขอนามัยด้วย 



เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนสถานการณ์เขื่อนบางลางซึ่งเป็นเขื่อนสำคัญของ จ.ยะลา ซึ่งจะช่วยรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากในช่วงฝนตกหนัก รวมถึงกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2567/68 จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี อิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง ฯลฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการพร่องน้ำออกจากเขื่อนล่วงหน้าเพื่อเตรียมรองรับฝนที่คาดว่าจะตกหนักในช่วงหลังจากนี้ โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ย. 67 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนบางลางลงให้อยู่ในอัตรา 14 ล้านลูกบาศก์เมตร 

ต่อวัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงน้ำเอ่อล้นในพื้นที่บริเวณบ้านบริดอ อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี โดยศูนย์ฯ ส่วนหน้าจะมีการประชุมหารือเพื่อพิจารณาปรับอัตราการระบายน้ำให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาต่อไป นอกจากนี้ จะมีการเฝ้าระวังสถานการณ์เขื่อนทุกแห่งในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง