
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลัง ประชุมร่วม 14 หน่วยงานเพื่อวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำและขับเคลื่อนแผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะความเป็นกลางของปรากฏการณ์เอ็นโซ่ ทำให้เกิดพายุฤดูร้อนส่งผลให้ฝนมีปริมาณมาก ตั้งเดือนมกราคมถึงมีนาคมฝนตกเกินค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 14-22 ขณะที่เดือนเมษายนจะมีค่ามากกว่าปกติถึงร้อยละ 49 โดยต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคตะวันออกที่จะเสี่ยงเจอกับพายุฤดูร้อน
ส่วนในเดือนพฤษภาคมปีนี้ฝนมาเร็วขึ้น และมีปริมาณฝนมากกว่าค่าฝนปกติถึงร้อยละ 17 จากนั้นก็จะค่อย ๆ ลดลงไปจนถึงเดือนสิงหาคม แล้วจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงกันยายนถึงตุลาคม คือ ค่าฝนมากกว่าปกติร้อยละ 29 และอาจมีน้ำหลากลงมาตั้งแต่ภาคเหนือลงมาภาคกลาง แต่ไม่เทียบเท่าปี 2554 ที่มีฝนต่อเนื่อง

สรุปข่าว
จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำต้นทุนรวมกว่า 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ต้องมีการปรับแผนการระบายน้ำเพื่อรองรับฤดูฝนที่มาเร็วในปีนี้ โดย คาดการณ์จะมีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 21 แห่ง ที่เสี่ยงน้ำจะเต็มความจุเขื่อน ดังนั้นในช่วงเดือนเมษายนจนถึงมิถุนายนจะต้องมีการปรับการระบายน้ำและจะมีการประสานประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ คณะกรรมการน้ำแห่งชาติได้ ร่าง 9 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2568 แล้ว ตามคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรี เช่น การชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง , การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ ,การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ รวมถึงสร้างการรับรู้ความเสี่ยงและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายในการติดตามเฝ้าระวังรับมือด้านน้ำ เป็นต้น