TNN จัดการบ้านหลังน้ำท่วมอย่างไร ให้ถูกหลักอนามัยสิ่งแวดล้อม

TNN

สังคม

จัดการบ้านหลังน้ำท่วมอย่างไร ให้ถูกหลักอนามัยสิ่งแวดล้อม

จัดการบ้านหลังน้ำท่วมอย่างไร ให้ถูกหลักอนามัยสิ่งแวดล้อม

หลายพื้นที่น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย เข้าสู่โหมดฟื้นฟูทำความสะอาดหลังน้ำลด มีข้อแนะนำจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมถึงจัดการบ้านหลังน้ำท่วมให้ถูกหลักอนามัยสิ่งแวดล้อม ผู้อยู่อาศัยกลับเข้าบ้านได้อย่างปลอดภัย

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat แนะวิธีจัดการบ้านหลังน้ำท่วม "น้ำท่วมขังนาน  น้ำในบ้านเริ่มเน่า..จัดการแบบไหน? ให้ถูกหลักอนามัยสิ่งแวดล้อม"


1. หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขังบ้านเรือนมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว หลายแห่งน้ำท่วมหลังคา สำหรับน้ำที่ท่วมสูงมากกว่า 0.5 เมตรขึ้นไป จะเริ่มเปลี่ยนสีจากสีขาวขุ่นเป็นสีน้ำตาลปนสีดำและเริ่มจะมีกลิ่นเหม็น แสดงว่าก๊าซออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำเริ่มลดลงจนเกือบเป็นศูนย์แล้ว รวมทั้งสารอินทรีย์ปริมาณมากที่อยู่ในน้ำกำลังจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์กลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจนหายใจ(Anaerobic bacteia) จะได้ก๊าซมีเทน , ก๊าซไข่เน่า และก๊าซแอมโมเนียเกิดขึ้นมีกลิ่นเหม็นฉุน หากน้ำยังท่วมขังยาว นานขึ้น น้ำจะมีสีดำสนิทและมีกลิ่นเหม็นเน่า


2. การจัดการกับน้ำท่วมขังที่เริ่มเน่าเสีย จะต้องนำขยะสิ่งปฎิกูลต่าง ๆ ออกไปก่อน ต้องเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกซึ่งจะเป็นการเพิ่มก๊าซออกซิเจนให้กับน้ำเสียรวมทั้งทำให้แสงแดดได้ สาดส่องเข้ามายังน้ำที่ท่วมขังด้วย ซึ่งจะทำให้กลุ่มจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนหายใจ (Aerobic Bacteria) สามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเน่าได้ง่ายขึ้นเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยลดกลิ่นเหม็นลงได้บ้าง 


3. เมื่อระดับน้ำเริ่มลดลงเหลือต่ำกว่า 0.3 เมตร ให้ใช้ใช้ปูนขาวสาดหรือโรยผงปูนขาวลงไปให้ทั่วบริเวณน้ำที่ท่วมขัง ปูนขาวจะช่วยปรับสภาพของน้ำเสียชึ่งมีสภาพเป็นกรดและเป็นสาเหตุของก๊าซไข่เน่าให้มีสภาพเป็นกลางซึ่งจะช่วยลดกลิ่นเหม็นจากก๊าซไข่เน่าและก๊าซแอมโมเนียรวมทั้งยังช่วยทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นต้นเหตุของกลิ่นเหม็นด้วยขณะเดียวกันยังช่วยไล่ยุงและแมลงวันที่จะมาวางไข่ด้วย


4. สำหรับพื้นที่ที่แฉะและเริ่มแห้ง เช่น พื้นบ้าน พื้นครัว ใต้ถุนบ้าน เป็นต้น ให้ใช้ผงปูนคลอรีน 60%ในอัตราส่วน 1 ช้อนชาผสมน้ำ 1 ปี๊ป ราดในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งราดบริเวณทางเดิน ร่องระบายน้ำให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้เวลาคลอรีนฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่นเหม็น หากพื้นที่ใดยังมีกลิ่นเหม็นคาวปลา หรือกลิ่นคล้ายก๊าซแอมโมเนีย ให้ใช้หัวน้ำส้มสายชูผสมน้ำให้เจือจางแล้วราดบริเวณที่มีกลิ่นเหม็นคาวดังกล่าวจะทำให้กลิ่นลดลง


5.ในการทำความสะอาดสิ่งต่าง ๆ ในบ้าน ต้องเปิดประตูหน้าต่างให้รอบ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ผู้ทำความสะอาดต้องสวมหน้ากากอนามัย ใส่ถุงมือ แว่นตาครอบหน้า และรองเท้ายาง เป็นต้น ในการทำความสะอาดตัวบ้านห้ามฉีดน้ำด้วยแรงดันสูงไปที่ต่าง ๆ เพราะจะทำให้เชื้อราฟุ้งกระจายได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำสบู่เช็ดสิ่งของหรือพื้น เพื่อให้คราบต่าง ๆ หลุดออกไปก่อน แล้วทำความสะอาดตามด้วยน้ำผสมคลอรีนหรือน้ำยาฟอกขาวทั่วไปอีกครั้ง ก็จะช่วยกำจัดเชื้อโรคทั้งเชื้อรา ยีสต์ แบคที เรียได้ทั้งหมด


นอกจากนี้ต้องไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ โดยจะต้องทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศก่อนด้วยการเช็ดด้วยน้ำสบู่และน้ำยาฟอกขาวรวมทั้งต้องเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศใหม่ทั้งหมดด้วย


6. เมื่อน้ำท่วมเริ่มลดลง ประชาชนจะเริ่มมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ จากเชื้อโรคที่มากับน้ำท่วมมากขึ้น เช่นโ รคตาแดง น้ำกัดเท้าโรคเชื้อรา โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคอาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องสัมผัสกับน้ำที่ท่วมขังให้น้อยที่สุด ดื่มน้ำสะอาด ทานอาหารร้อนใช้ช้อนกลาง นอนกางมุ้ง และต้องสวมรองเท้ายาง สวมแว่นครอบหน้า ใส่ถุงมือและหน้ากากอนามัยเมื่อต้องลงไปในน้ำที่ท่วมขัง


จัดการบ้านหลังน้ำท่วมอย่างไร ให้ถูกหลักอนามัยสิ่งแวดล้อม


ข้อมูลและภาพ : ดร.สนธิ คชวัฒน์ FB : Sonthi Kotchawat

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง