เลื่อนถกขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีกำหนด คาดไม่ทันวันที่ 1 ต.ค.
ปลัดกระทรวงแรงงานยอมรับต้องอาจต้องเลื่อนนัดประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากที่กำหนดไว้ในวันที่ 24 กันยายนนี้ออกไปแบบไม่มีกำหนด เพราะเกิดปัญหาตัวแทนฝ่ายราชการที่มาจากแบงก์ชาติ ที่ทางแบงก์ชาติไม่รับรอง จึงได้เสนอให้แบงก์ชาติตั้งตัวแทนฝ่ายราชการของคณะกรรมการค่าจ้างใหม่ ซึ่งอาจมีผลกับการพิจารณาขึ้นค่าจ้างไม่ทัน 1 ต.ค.
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ คณะกรรมการไตรภาคี ชุดที่ 22 เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ว่าที่ประชุมไม่สามารถปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั้วประเทศได้ เนื่องจากผู้แทนฝ่ายราชการที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมถึง 4 ท่าน จึงทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ที่จะต้องมีคณะกรรมการเข้าร่วม 2 ใน 3 ของกรรมการค่าจ้างทั้งหมด
ทั้งนี้ผู้แทนฝ่ายราชการที่ไม่ได้เข้าประชุม และถือว่ามีความสำคัญต่อการประชุม คือ ผู้แทนฝ่ายราชการจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ คือ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเมื่อได้ทำหนังสือสอบถามไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ได้รับการตอบกลับมาว่าไม่รับรองนายเมธีให้เป็นตัวแทนของแบงก์ชาติไปแล้ว การกระทำของนายเมธี จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับแบงค์ชาติ ซึ่งขั้นตอนนายเมธีต้องลาออกจากการเป็นคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อให้ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายราชการของแบงก์ชาติคนใหม่ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วัน ทำให้ที่ประคณะกรรมการค่าจ้างที่ถูกเลื่อนไปในวันที่ 24 กันยายนนี้ อาจจะไม่สามารถประชุมได้ และคาดว่าการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศจะไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม ตามกำหนดที่วางไว้ก่อนหน้านี้
ในส่วนของผู้แทนฝ่ายราชการอีก 3 คน ที่ไม่ได้เข้าประชุมบอร์ดค่าจ้างนั้น นายไพโรจน์ ระบุด้วยว่า ได้สอบถามไปแล้วพบว่าติดภารกิจ ซึ่งบางรายแม้จะเกษียณอายุราชการ อย่าง นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็ยังทำงานไปจนถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ ขณะที่นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ติดภารกิจต่างจังหวัดไม่สามารถมาร่วมประชุมได้
ข่าวแนะนำ