องค์ประชุมไม่ครบ เลื่อนเคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกรอบ ไป 24 ก.ย.
ที่ประชุมไตรภาคีเพื่อพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำล่มอีกรอบ เหตุองค์ประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 โดยขาดตัวแทนรัฐ 4 และลูกจ้าง 2 ขณะที่ฝ่ายนายจ้างมาครบ นัดประชุมใหม่อีกครั้งวันที่ 24 ก.ย.
คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดไตรภาคี / ซึ่งมีฝ่ายรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง รวมทั้งสิ้น 15 คน เพื่อหารือถึงการพิจารณาผลการกลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร หลังจากในการประชุมวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ฝ่ายนายจ้าง ได้ลาประชุมทั้งหมด จึงไม่ได้หารือถึงประเด็น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 9/2567 เพื่อพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ว่า การประชุมครั้งนี้ ไม่เรียกว่าล่ม แต่ไม่ครบองค์ประชุม โดยมีตัวแทนราชการไม่เข้าประชุม 4 คน และลูกจ้างไม่เข้า 2 คน จึงทำให้ไม่ครบองค์ประชุม 2 ใน 3 ที่จะต้องมีผู้เข้าประชุม 10 คนขึ้นไป
วันนี้ จึงเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลสภาพการจ้างงานของลูกจ้างให้ที่ประชุมได้ทราบว่าปัจจุบันมีธุรกิจที่มีการจ้างลูกจ้างที่จ่ายค่าจ้าง 400 บาทจำนวนเท่าไหร่ มีผลกระทบแรงงานไทยอย่างไร และกระทบด้านใดบ้าง หากดูข้อมูลจากประกันสังคม หากมีการปรับขึ้นค่าแรงในธุรกิจที่มี 200 คนขึ้นไป จะมีแรงงานต่างด้าวได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าแรง 400 บาทประมาณ 1 ล้านคน และแรงงานไทย เกือบ 4 ล้านคน
ทั้งนี้ จึงทำให้วันนี้ไม่สามารถลงมติได้ ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ นายไพโรจน์ บอกว่า ที่ประชุมมีมติให้ประชุมใหม่อีกครั้งในช่วงเช้าของวันที่ 24 กันยายน 2567 กรณีหากองค์ประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 อีกครั้ง ก็จะมีการเลื่อนประชุมออกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ
อย่างไรก็ตาม นายไพโรจน์ ระบุว่า ได้มีการสอบถามถึงสาเหตุของการไม่เข้าร่วมประชุมของฝ่ายภาครัฐและลูกจ้างจากฝ่ายเลขาฯ แล้ว แจ้งว่า สำหรับฝ่ายลูกจ้างที่ขาดไป 2 คนแจ้งว่าติดภารกิจและป่วย / ส่วนฝ่ายภาครัฐ 4 คน แจ้งว่า ติดภารกิจด่วน คาดว่า อยู่ในช่วงปิดงบประมาณรายจ่ายฯ จึงมีภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ทำให้ไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุมได้ ซึ่งบางรายมีการแจ้งลาด่วนเมื่อช่วงเช้าวันนี้
นายไพโรจน์ ยืนยันว่า สาเหตุที่ตัวแทนฝ่ายภาครัฐและลูกจ้างไม่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ไม่ได้มีนัยยะทางการเมือง ซึ่งหากวันที่ 24 กันยายนนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุม และมีมติ 2 ใน 3 ก็จะนำผลเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เพื่อให้พิจารณา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ แต่หากไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ก็จะมีการเลื่อนออกไป จนกว่าองค์ประชุมจะครบและจะมีมติออกมาจากไตรภาคี
พร้อม กล่าวย้ำว่า ขอให้คณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่เข้าร่วมประชุม เพราะการส่งตัวแทนทำให้ไม่สามารถลงมติได้ และไม่สามารถเดินหน้าปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ยืนยันว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยากให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่ตนเองจะเกษียณ ซึ่งยังเหลือระยะเวลาอีกประมาณ 6 วันเท่านั้น
ข่าวแนะนำ