เพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา รับฝนและพายุ ก.ย.-ต.ค.
สทนช.ประเมินปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายนและตุลาคมคาดการจะมีพายุเข้า 1-2 ลูก และต้องติดตามอิทธิพลของพายุ ยางิ ที่อาจจะทำให้พื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมได้รับผลกระทบซ้ำ // ขณะเดียวกันต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา 1,500 - 2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช.เปิดเผยภายหลังประชุมประเมินสถานการณ์น้ำ ว่า ช่วงเดือนกันยายน มีแนวโน้มฝนจะตกมากกว่าปกติทำให้ภาคเหนือ ภาคกลสง ได้นับผลกระทบ จากนั้นเดือนตุลาคม ฝนจะย้ายฝั่งไปตกหนักทางภาคใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะมีพายุ 1-2 ลูกพาดผ่านเข้าประเทศไทย ล่าสุด คือ พายุโซนร้อนยางิ ที่พัฒนาแรงขึ้นเป็นไต้ฝุ่น มีแนวโน้มจะไปขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ดังนั้นช่วงวันที่ 6-7 กันยายน จะส่งผลให้ประเทศไทยเจอมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อภาคตะวันออก เช่น จ.ตราด จ.จันทบุรี และฝั่งทางภาคใต้ทะเลอันดามันจะมีฝนตกหนัก
ส่วนภาคเหนือตอนบน และภาคอีสานตอนบน ในจังหวัดเดิมที่ถูกน้ำท่วมก่อนหน้านี้ จะได้รับอิทธิพลจากพายุยางิ หรือไม่ หรืออาจจะได้รับอิทธิพลของหางพายุ ต้องเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์หลังพายุขึ้นฝั่งว่ามีทิศทางการสลายตัวเป็นเช่นใด
สำหรับในเขื่อนต่างๆ ไม่น่าห่วงปัจจุบันยังสามารถรองรับน้ำได้อีกปริมาณมาก เช่น เขื่อนภูมิพล สามารถรับน้ำได้อีก 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รับน้ำได้อีก 600 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิต์ รับน้ำได้อีก 2,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกันการบริหารจัดการน้ำตามทุ่งรับน้ำ เช่นทุ่งบางระกำ แม้ปีนี้ น้ำในแม่น้ำยมจะมามาก แต่ทุ่งบางระกำยังรับน้ำได้อีก 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เช่นเดียวกับทุ่งรับน้ำบึงบอระเพชร ถึงระดับน้ำแม่น้ำน่านจะสูงกว่าบึงบอระเพชร แต่ที่ผ่านมายังไม่ทีการผันน้ำแม่น้ำน่านเข้าบึง เพื่อเตรียมรอรับมวลน้ำป่าที่หลากมาตามทุ่งเข้าไปกักเก็บ ซึ่งเตรียมพื้นที่บึงบอระเพชร รองรับน้ำหลากได้อีก 150 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ จากการประเมินฝนช่วงนี้ที่จะตกลงมาในปริมาณมาก คาดการณ์ว่าระดับน้ำที่ไหลผ่านสถานี C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 2,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งอาจจะทำให้การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ต้องปรับเพิ่ม จาก วันละ 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็นวันละ 2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ได้ หรืออาจจะไม่ถึง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ทั้งนี้อยากให้ประชาชนที่อยู่ใต้เขื่อนเจ้าพระยา เช่น จ.ชัยนาท/สิงห์บุรี/อ่างทอง/พระนครศรีอยุธยา/ปทุมธานี/และนนทบุรี เตรียมนัวรับมือ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยวันที่ 5 กันยายนนี้ (2567) สทนช.จะลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ไปประชุมร่วมกับ หน่วยบริหารจัดการน้ำ เพื่อวางแผนรับมือช่วยเหลือ และสร้างความเชื่อมั่นด้านการบริหารจัดการน้ำให้กับประชาชน
ข่าวแนะนำ