TNN "ชัชชาติ"ไม่กังวลน้ำเหนือเข้ากรุง ชี้สถานการณ์ต่างจากปี 54 มาก

TNN

สังคม

"ชัชชาติ"ไม่กังวลน้ำเหนือเข้ากรุง ชี้สถานการณ์ต่างจากปี 54 มาก

ชัชชาติไม่กังวลน้ำเหนือเข้ากรุง   ชี้สถานการณ์ต่างจากปี 54 มาก

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ห่วงปริมาณน้ำเหนือมั่นใจรับมือได้ ขอประชาชนไม่ต้องกังวลสถานการณ์แตกต่างจากปี 2554 มาก ซึ่งขณะนี้ กทม.เตรียมพร้อมรับมวลน้ำจากจังหวัดสุโขทัยที่คาดว่าจะถึงกทม.ในวันที่ 2 ก.ย.นี้ โดยเฝ้าระวังการระบายน้ำของสถานีบางไทร วันนี้มีการระบายน้ำอยู่ที่ 989 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสริมแนวกระสอบทรายตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุ  มวลน้ำเหนือจากสุโขทัยไม่น่ากังวล แต่เฝ้าระวังฝนตกในกรุงเทพฯเกิน 200 มิลลิเมตร หากเกินนี้อาจมีน้ำท่วมได้ เนื่องจากท่อสามารถรับได้อยู่ที่ 60 มิลลิเมตร ซึ่งสถานการณ์ปีนี้มีความแตกต่างจากปี 2554 และ 2 ปีที่ผ่านมา กทม.ได้มีการสร้างระบบป้องกันและเฝ้าระวังน้ำท่วมมาตลอด ที่เน้นถนนสายหลักให้ระบายได้เร็ว และมีการสัญจรสะดวก หลายจุดน้ำลงเร็วขึ้น แต่บางจุดมีน้ำท่วมขังบ้าง 


นายชัชชาติ ย้ำว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีอะไรเทียบเคียงได้กับปี 2554 และไม่ได้รุนแรงเท่า  ซึ่งกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการทำโครงสร้างและทำแนวคันกั้นน้ำความยาวกว่า 600 กิโลเมตร เสริมคันกั้นน้ำตามพระราชดำริที่ระดับ 2 เมตร 50 เซนติเมตร ถึง 3 เมตร 95 เซนติเมตรจากระดับน้ำทะเล 


ด้านนายวิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยถึงการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำฝนของกรุงเทพกรุงเทพมหานคร ระบุว่าปัจจุบันพื้นที่ภาคเหนือมีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหลากและอาจส่งผลกระทบกับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กทม. ได้เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำและ ระบบป้องกันน้ำท่วมต่างๆ และตรวจสอบความแข็งแรง และจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวกว่า 80 กิโลเมตร 


ขณะที่สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสัก เปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว / พบว่า ปีนี้ดีกว่าและสามารถรองรับน้ำได้เพิ่ม ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังและติดตามมวลน้ำที่มาจากแม่น้ำยมซึ่งจะไม่ไหลเข้าเขื่อนและระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันมวลน้ำไหลลงที่จังหวัดสุโขทัยและคาดว่าจะมาถึงกรุงเทพใช้เวลาประมาณ 6 วัน (ในวันที่ 2 กันยายน 2567)โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังก่อนถึงกรุงเทพมหานครคือที่สถานีบางไทรซึ่งอัตราระบายน้ำที่สถานีบางไทรวันนี้อยู่ที่ 989 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยอัตราการระบายที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


ซึ่งหลังจากปี 2554 เป็นต้นมาได้เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาสูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับ 2 เมตร 80 เซนติเมตร ถึง 3 เมตร 50 เซนติเมตร และเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวรหรือแนวฟันหลอ รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 96 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวแม่น้ำทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุดเครื่องสูบน้ำสำรองเรือผลักดัน วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทรายตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง


รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปริมาณฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานครปี 2567 พบว่าเดือนสิงหาคมปริมาณฝนอยู่ที่ 208.5 มิลลิเมตร น้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 224 มิลลิเมตร และปริมาณฝนสะสมปี 2567 อยู่ที่ 842.5 มิลลิเมตร มีค่าใกล้เคียงกับปี 2566 อยู่ที่ 811.5 มิลลิเมตร ซึ่งจากสถานการณ์ฝนเดือนสิงหาคมที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีความพร้อมในการรับมือมาโดยตลอด 


ข่าวแนะนำ