1 ปี กรมโลกร้อนพิชิตโลกเดือก ลดก๊าซเรือนกระจกกว่า 60 ล้านตันคาร์บอน
1 ปี ตั้งกรมโลกร้อนพิชิตโลกเดือด ดันภารกิจลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 60 ล้านตันคาร์บอน ประกาศมาตรการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single - use plastic) ภายในอาคาร 100%
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือเรียกว่ากรมโลกร้อน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรม “1 ปี กรมลดโลกร้อน ภารกิจพิชิตโลกเดือด” พร้อมประกาศมาตรการการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single – use plastic) ในโอกาสครบรอบ 1 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ภารกิจช่วง 1 ปี การก่อตั้งกรมฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบาย เช่น ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 ตั้งเป้าหมายดำเนินการเอง ร้อยละ 33.3 และขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศร้อยละ 6.7 รวมเป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2573 พร้อมติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย NDC ของประเทศ จำนวน 25 มาตรการ ซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 60 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ขณะเดียวกัน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศฯ นำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ร่วมประกาศมาตรการการลด และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single - use plastic) ในอาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม แบบ 100% เพื่อยกระดับภารกิจในการส่งเสริม สร้างการรับรู้ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และสนับสนุนให้ทุกหน่วยงาน และบุคลากรร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจด้านสิ่งแวดล้อม ให้ทุกคนในสังคมเกิดความตระหนัก เล็งเห็นถึงคุณค่าของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีมาตรการ ดังนี้
ข้อ 1 ห้ามบุคลากรและร้านค้าในอาคารฯ ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 3 ประเภท ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบาง หรือถุงก๊อบแก๊บ / ถ้วยหรือแก้วพลาสติก และ หลอดพลาสติก
ข้อ 2 ทุกหน่วยงานภายในอาคารฯ ใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เครื่องดื่ม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือใช้บรรจุภัณฑ์ทดแทนพลาสติกในการจัดประชุม สัมมนา หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
ข้อ 3 ให้บุคลากรทุกคน ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทดแทนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ใช้แก้วน้ำส่วนตัวแทนการใช้แก้วพลาสติก ใช้กล่องข้าว/ปิ่นโต สำหรับบรรจุอาหาร เป็นต้น
นอกจากนี้ ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมฯ ได้จัดส่งแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) พร้อมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ “การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสาขาสาธารณสุข กับกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการดำเนินงาน เช่น การรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ กรมฯ ยังมุ่งมั่นแก้ปัญหาโลกเดือดที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชาชน โดยจะติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศไทย พร้อมยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 2035 ให้เข้มข้นขึ้นตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน ” รวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามที่ได้ประกาศต่อประชาคมโลกต่อไป
ข้อมูล : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ภาพ : Canva
ข่าวแนะนำ