TNN รู้ทันอาการ "อะเฟเซีย" ภาวะผิดปกติการสื่อสารด้านภาษา

TNN

สังคม

รู้ทันอาการ "อะเฟเซีย" ภาวะผิดปกติการสื่อสารด้านภาษา

รู้ทันอาการ อะเฟเซีย ภาวะผิดปกติการสื่อสารด้านภาษา

กรมการแพทย์เตือนอาการอะเฟเซีย (Aphasia) หรือ ภาวะความผิดปกติทางการสื่อสารด้านภาษา เป็นผลโดยตรงจากพยาธิสภาพของสมอง แนะควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่า เมื่อสมองส่วนกลางที่รับผิดชอบเรื่องภาษา ได้รับความเสียหายจากสาเหตุใดก็ตาม จะทำให้มีความผิดปกติด้านภาษา ทักษะในการสื่อสาร พูดไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่อง เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก รวมไปถึงการตอบโต้หรือทำความเข้าใจได้ช้าลง ซึ่งเรียกว่า "อาการอะเฟเซีย"


นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ขยายความว่า อะเฟเซียเป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียความสามารถของสมองในการสื่อสารด้วยภาษา ผู้ป่วยที่มีอาการอะเฟเซีย จะมีความบกพร่องในการใช้ภาษา โดยแบ่งกลุ่มอาการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่


กลุ่มที่ 1 เป็นความผิดปกติด้านการสั่งการด้วยภาษา เช่น พูดไม่ออก สะกดคำผิด เขียนไม่ได้ เขียนไม่เป็นคำ เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก ถ้าผิดปกติเล็กน้อย อาจจะยังพอพูดออกเสียงได้เล็กน้อย


กลุ่มที่ 2 ความผิดปกติด้านความเข้าใจภาษา เช่น ฟังไม่เข้าใจ อ่านไม่เข้าใจ ยังสามารถพูดได้คล่อง แต่ไม่ตรงกับประเด็นสนทนา เพราะไม่เข้าใจเรื่องที่ผู้อื่นพูด


กลุ่มที่ 3 ความผิดปกติทั้งด้านการสั่งการด้วยภาษาและความเข้าใจภาษา ทำให้ผู้ป่วยมีลักษณะเงียบ เฉยเมย ไม่พูด และไม่เข้าใจภาษา

 

รู้ทันอาการ อะเฟเซีย ภาวะผิดปกติการสื่อสารด้านภาษา


รู้ทันอาการ อะเฟเซีย ภาวะผิดปกติการสื่อสารด้านภาษา


หากพบอาการแสดงที่สงสัยว่าเกิดจากภาวะอะเฟเซีย ควรเข้ารับการตรวจรักษาโดยทันที เพื่อให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะบางสาเหตุ หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก จะให้ผลการรักษาดีกว่า หรือหายเป็นปกติเลยเมื่อเทียบกับการปล่อยอาการไว้เป็นระยะเวลานาน


ว่าที่ร้อยตำรวจโทหญิง แพทย์หญิง นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์  บอกว่า สาเหตุอาการอะเฟเซียเกิดจากโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง สมองอักเสบ เนื้องอกในระบบประสาท สมองเสื่อม เป็นต้น 


ดังนั้นต้องซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อทราบลักษณะและระยะเวลาที่เกิดความผิดปกติ ควบคู่ไปกับการตรวจร่างกายเพื่อยืนยันและค้นหาความผิดปกติทางระบบประสาทอื่น ๆ ระบุสาเหตุของการเกิดโรค เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม


รู้ทันอาการ อะเฟเซีย ภาวะผิดปกติการสื่อสารด้านภาษา


ซึ่งวิธีการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุของโรคที่เป็น ควบคู่ไปกับการบำบัดฟื้นฟูการใช้ภาษา และการสื่อสารร่วมด้วย


ส่วนแนวทางป้องกันการเกิดโรค ได้แก่

-การดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง

-รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายเหมาะสม มีการนอนหลับที่ดี

-การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น


รู้ทันอาการ อะเฟเซีย ภาวะผิดปกติการสื่อสารด้านภาษา


-ดูแลสุขภาพใจให้สมบูรณ์ดี หลีกเลี่ยงความเครียดหรืออารมณ์ที่หม่นหมอง

-ในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน เบาหวาน ความดันโหลิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่ ควรติดตามการรักษา รับประทานยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


ทั้งนี้ เพื่อช่วยป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นกับสมอง ทั้งภาวะอะเฟเซีย หรือความผิดปกติจากโรคไม่ติดต่อทั้งหมดในระบบประสาทได้อีกด้วย


ข้อมูล : กรมการแพทย์

ภาพ : ทีมกราฟิก TNN ช่อง 16



ข่าวแนะนำ