'โลกร้อน' ทำลมกรดแปรปรวน เพิ่มโอกาสเครื่องบินตกหลุมอากาศ
วิกฤตโลกร้อน อากาศแปรปรวนทำหลุมอากาศเพิ่มขึ้น เสี่ยงภัยทางอากาศ
โลกร้อนส่งผลให้เครื่องบินมีโอกาสตกหลุมอากาศเพิ่มขึ้น
จากเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 ซึ่งเดินทางจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มายังสิงคโปร์ ได้ประสบเหตุตกหลุมอากาศจนต้องขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ออกมาให้ข้อมูลถึงสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าภาวะโลกร้อนส่งผลให้โอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศมีมากขึ้น
ดร.สนธิ อธิบายว่า เครื่องบินที่บินในบริเวณซีกโลกตะวันตกหรือบินจากโลกตะวันตกมายังซีกโลกตะวันออกมีแนวโน้มที่จะตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกที่สูงขึ้นทำให้ลมกรดหรือ Jet stream ซึ่งเป็นกระแสลมที่ไหลเวียนในระดับความสูงประมาณ 7-16 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก และมีความเร็วสูงถึง 200-400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกิดความแปรปรวน
โดยปกติแล้ว เครื่องบินที่บินจากซีกโลกตะวันตกมายังซีกโลกตะวันออกควรวางแผนการบินให้บินตามกระแสของลมกรด เพื่อเพิ่มความเร็วและประหยัดพลังงาน ในขณะที่การบินจากตะวันออกไปตะวันตกควรหลีกเลี่ยงลมกรดให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในบรรยากาศโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ทำให้ความเร็วของลมกรดในบางช่วงลดลง ส่งผลให้เกิดอากาศแปรปรวนและหลุมอากาศมากขึ้น แม้ในขณะที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง
งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิในบรรยากาศที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในแถบทวีปอาร์กติก ซึ่งมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก ส่งผลให้ความเร็วของลมกรดในบางช่วงลดลง ทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศบางลงและก่อให้เกิดหลุมอากาศ เมื่อเครื่องบินบินผ่านหลุมอากาศ แรงยกจากปีกเครื่องบินจะลดลงอย่างฉับพลัน ทำให้ตัวเครื่องตกลงไปในหลุมอากาศ ซึ่งความรุนแรงของการตกขึ้นอยู่กับขนาดของความหนาแน่นของมวลอากาศ
นักวิจัยระบุว่า อัตราการเกิดหลุมอากาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าภายในปี พ.ศ. 2593 และเครื่องบินอาจต้องเผชิญกับหลุมอากาศที่รุนแรงมากขึ้นถึง 40% ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางการบินที่รุนแรงตามมาได้ หากไม่มีมาตรการในการรับมือและป้องกันที่เหมาะสม
ข่าวแนะนำ