เปิดขั้นตอนการปล่อยตัว "ทักษิณ ชินวัตร" หลังได้รับการพักโทษ
ขั้นตอนการปล่อยตัว "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี 18 กุมภาพันธ์นี้ หลังได้รับการพักโทษ
ขั้นตอนการปล่อยตัว "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี 18 กุมภาพันธ์นี้ หลังได้รับการพักโทษ
บรรยากาศที่บริเวณด้านหน้าอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา หรือ มภร. โรงพยาบาลตำรวจ สถานที่พักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามปกติ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ หลังนายทักษิณได้รับการพักโทษและซึ่งจะมีผลตั้งแต่เวลา 00.00 น.วันที่ 18 ก.พ.นี้ มีเพียงสื่อมวลชนที่ไปติดตามความเคลื่อนไหว และมีกำลังตำรวจนอกเครื่องแบบคอยดูแลความปลอดภัยบริเวณโดยรอบพื้นที่
เช่นเดียวกับบรรยากาศบริเวณหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ใน ซ.จรัญสนิทวงศ์ 69 แขวงและเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ที่คาดว่าเป็นสถานที่ที่นายทักษิณจะไปพักอาศัยหลังได้รับการพักโทษก็ยังไม่พบความเคลื่อนไหวหรือการจัดเตรียมพื้นที่ใด ๆ ประตูบ้านยังคงปิดสนิทยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากคนภายในบ้านและจากภายนอกบ้าน
ขั้นตอนการปล่อยตัวนายทักษิณ ชินวัตร
ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมาย จะนำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพักโทษไปให้ นายทักษิณลงลายมือชื่อตามขั้นตอนการปล่อยตัว เพราะเมื่อถึงวันครบกำหนดพักโทษ ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯไม่มีอำนาจในการคุมตัวอีกต่อไป ส่วนกระบวนการเกี่ยวกับการคุมประพฤติระหว่างพักโทษ เช่น ข้อกำหนด ข้อห้ามการกระทำ หรือเงื่อนไขการรายงานตัวต่างๆ เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะดำเนินแจ้งให้ผู้ได้รับการพักโทษทราบภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้พักโทษ
กรณีของนายทักษิณ หากวันปล่อยตัวไปตรงกับวันหยุด ตามหลักการแล้ว ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะมอบหมายให้พัศดีเวร เดินทางไปยังรพ.ตำรวจ สถานที่คุมขัง เพื่อดำเนินการในขั้นตอนปล่อยตัวผู้ได้รับการพักโทษ
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ไม่เคยมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังยามวิกาล ส่วนใหญ่จะทำในเวลาทำการปกติ เช่น เวลา 06.00 น. หรือเวลา 08.00 น. หรือบางเรือนจำอาจปล่อยตัวในช่วงเวลา 13.00 น. ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละเรือนจำ เพราะจะมีเรื่องของเอกสารการปล่อยตัวที่ต้องดำเนินการ จึงมีความเป็นไปได้ว่าภายในวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ. นายทักษิณจะได้รับการปล่อยตัวพักโทษ และก็เป็นไปได้เช่นเดียวกันที่นายทักษิณจะนอนพักรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ หากสุขภาพยังไม่เอื้ออำนวยมากเพียงพอในการขยับหรือเคลื่อนย้าย จึงต้องดูในส่วนของรายละเอียดการพูดคุยระหว่างแพทย์และผู้ป่วยประกอบด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ครอบครัวหรือญาติก็จำเป็นต้องเข้ารับฟังด้วย
ภาพจาก AFP
ข่าวแนะนำ