TNN ‘น้ำท่วมภาคใต้’ กระทบวงกว้างปิดรพ. 10 แห่ง บขส. งดเดินรถกทม. - สุไหงโกลก

TNN

สังคม

‘น้ำท่วมภาคใต้’ กระทบวงกว้างปิดรพ. 10 แห่ง บขส. งดเดินรถกทม. - สุไหงโกลก

‘น้ำท่วมภาคใต้’ กระทบวงกว้างปิดรพ. 10 แห่ง บขส. งดเดินรถกทม. - สุไหงโกลก

‘น้ำท่วมภาคใต้’ กระทบวงกว้างโรงเรียนเดือดร้อน 182 แห่ง ปิด 10 โรงพยาบาล บขส. งดเดินรถกทม. - สุไหงโกลก ชั่วคราว

นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกองสาธารณสุขฉุกเฉินถึงสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่ม พื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 22 - 26 ธันวาคม 2566 พบว่า ยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล โดยแนวโน้มลดลงทุกจังหวัด มีประชาชนได้รับผลกระทบรวม 18,402 ครัวเรือน เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 1 ราย ส่วนสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบสะสม 12 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาล 2 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9 แห่ง กระจายอยู่ในนราธิวาสและยะลา จังหวัดละ 6 แห่ง ในจำนวนนี้ยังคงปิดให้บริการ 10 แห่ง เบื้องต้นส่วนกลางสนับสนุนยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ จำนวน 4,200 ชุด และยังได้กำชับให้ทั้ง 5 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 28 - 29 ธันวาคมนี้ด้วย


นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ใน 2 จังหวัด คือ ยะลา และนราธิวาส แล้ว ซึ่งพร้อมให้ความช่วยเหลือและดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัยในมิติด้านสุขภาพอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมด้วย 


ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักที่สุด คือ จังหวัดนราธิวาส มีสถานศึกษาได้รับผลกระทบ ใน 13 อำเภอ รวม 182 แห่ง รองลงมา คือ จังหวัดยะลา จำนวน 52 โรงเรียน จังหวัดปัตตานี 16 โรงเรียน และมีรายงานครูเสียชีวิต 1 ราย ที่จังหวัดนราธิวาส จากน้ำป่าพาดินโคลนถล่มบริเวณที่พักอาศัย ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 3 ได้ร่วมแสดงความเสียใจ มอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวคุณครู ไปเบื้องต้นแล้ว


อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่ระดับน้ำยังท่วมสูง และไหลเชี่ยวกราก ทาง สพฐ. ได้ประสานกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ เร่งให้การช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยได้เน้นย้ำผู้บริหารโรงเรียนทุกแห่ง ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและครูเป็นสำคัญ หากมีความเสี่ยงในการเดินทางมาโรงเรียน ผู้บริหารสามารถสั่งปิดสถานศึกษาได้ทันที


ขณะที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) แจ้งว่า บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องหยุดให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ-สุไหงโกลกชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้พื้นที่ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เกิดน้ำท่วมฉับพลัน รถโดยสารไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ผู้โดยสารที่ไม่สามารถเดินทางได้จากเหตุอุทกภัย ติดต่อขอคืนตั๋วโดยสาร หรือแจ้งเลื่อนการเดินทางได้ที่สถานีเดินรถของ บขส. ทั่วประเทศ หรือ สอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่ บขส. Call Center 1490 ตลอด 24 ชั่วโมง


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวภูมิภาคภาคใต้ 

ข่าวแนะนำ