TNN ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล 2024 มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน

TNN

สังคม

ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล 2024 มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน

ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล 2024 มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน

ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล 2024 มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน

          นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัลปี 2567 หรือ ค.ศ.2024 จะก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดด้วยการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี Generative AI หรือ "เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์" สามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ด้วยการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดย AI


          การแข่งขันกันนำเสนอการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Generative AI ในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ของบริษัทไฮเทคจะพลิกผัน หรือ Disrupt ธุรกิจอุตสาหกรรมเดิม ให้พลิกโฉมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะจะมีทางเลือกใหม่ สินค้าใหม่ บริการใหม่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย บางกิจการจะถูกเข้ามาแทนที่ ถดถอย และหายไปจากตลาด บางกิจการจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดพร้อมผลิตภาพและกำไรสูงขึ้น


          นอกจากนี้ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่เป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ หากควอนตัมคอมพิวติ้ง (Quantum Computing) สามารถนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้ จะทำให้การประมวลผลรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพขึ้นไปอีก ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้านี้ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนอีกมากมาย


          ภายในปี ค.ศ.2030 ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกจะเพิ่มเป็นมากกว่า 8 พันล้านราย คิดเป็น 90% ของประชากรโลก ในปัจจุบันนี้มีประชาชนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ประมาณ 5 พันกว่าล้านราย ทำให้ช่องว่างดิจิทัลยังมีอยู่มาก อุปสรรคสำคัญ คือ การเข้าถึงได้ในราคาถูก และง่ายต่อการใช้งาน ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิทัล จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระบบทุนนิยมโลกเพิ่มขึ้นอีก


          นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เมื่อโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติและการทำงานจากการควบคุมทางไกล ส่งผลต่อระบบการบริหารงานคลังสินค้าครบวงจรระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อเกิดขึ้นแบบไร้รอยต่อ ทำให้ระบบซัพพลายเชนแบบเดิมล้าหลังไปทันที ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนั้นสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลได้เหมือนกันแต่ระดับบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอาจแตกต่างกัน อุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมและสื่อสารมวลชน อุตสาหกรรมบันเทิง กลุ่มนี้จะเปิดรับในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วกว่าอุตสาหกรรมการศึกษา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์


          "ผู้นำตลาดดั้งเดิม มักไม่เร่งรีบนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จากการที่ได้ลงทุนไปในเทคโนโลยีแบบเดิมไปมาก และยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากพอ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นตัวถ่วงรั้ง หรือแรงฝืดต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ส่วนผู้แข่งขันรายใหม่ที่ยังไม่ได้มีการลงทุนทางกายภาพเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีแบบเดิม ก็มักจะเร่งรัดในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ แรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล คือ แรงผลักดันที่มาจากลูกค้าและสังคม ย่อมเกิดความเสี่ยงหรือความวิตกกังวล และโอกาสเกิดขึ้นเมื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล" นายอนุสรณ์ ระบุ


          พร้อมวิเคราะห์ถึง โอกาส ความเสี่ยงและความวิตกกังวลจากระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลว่า

          ประการที่ 1 ความเสี่ยงและความวิตกกังวลในอนาคตที่มีพลวัตสูงและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จนกระทั่งมีผลต่อการปรับตัวของกิจการ การดำเนินชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภค

          ประการที่ 2 ความเสี่ยงและความวิตกกังวัลเรื่องการว่างงานของแรงงานมนุษย์

          ประการที่ 3จะเกิดผลงานสร้างสรรค์ขึ้นมากมายจาก Generative AI

          ประการที่ 4 ความเสี่ยงต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และประเด็นเรื่องความมั่นคง

          ประการที่ 5 สามารถทำให้เกิด Mass Customization ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ประการที่ 6 วิถีชีวิตแบบดิจิทัลและผลข้างเคียงเชิงพฤติกรรม สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพกันลดลง

          ประการที่ 7 สื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ ก้าวเข้าแทนที่สื่อแบบดั้งเดิม สื่อใหม่เหล่านี้ สามารถกุมอำนาจกำหนดมุมมองและสร้างกระแสความคิดที่มีอิทธิพลทางสาธารณะได้

          ประการที่ 8 การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัล ทำให้เกิดการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของบุคคลจำนวนหนึ่ง ที่สามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

          ประการที่ 9 เกิดข้อมูลมหาศาลและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          ประการที่ 10 ชีวิตที่สุขสบายขึ้น ชีวิตอัจฉริยะ และยืนยาวขึ้น

          ประการที่ 11 การเพิ่มความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม


          นายอนุสรณ์ มองว่า นโยบาย Digital Economy ควรมีเป้าหมายในระดับประเทศที่ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่ง GDP ที่จะเพิ่มได้นั้น ไม่ได้เกิดจากที่รัฐเป็นผู้ให้บริการ แต่รัฐต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ ที่อยู่บนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลดังกล่าว


          ดังนั้น นโยบาย Digital Economy จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องคิดและเขียนออกมาให้ได้ตรงตามเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทย ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มผลิตภาพทั้งระบบ และต้องให้เกิดความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำไม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการทำให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว


          รูปแบบการทำงานในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอีก ระบบการทำงานแบบไฮบริด (คือการทำงานในสำนักงานผสมผสานกับการทำงานจากที่ไหนก็ได้) จะแพร่หลายมากขึ้น ระบบบริหารจัดการแบบใหม่ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบบค่าจ้างต้องเปลี่ยนแปลงตามแนวโน้มระบบการทำงานแบบใหม่นี้ด้วย ท่ามกลางพลวัตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล การเกิดขึ้นของ Metaverse การเกิดขึ้นของ Generative AI และ การ Tokenized ระบบการเงินและเศรษฐกิจ ทำให้ระบบการเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และระบบการจ้างงานเปลี่ยนไป


          นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวโน้มของการทำให้เกิด Tokenization ในหลายประเทศ ผลของการ Tokenization ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงินเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดว่าเราควรจะมีแนวทาง นโยบาย และการบริหารจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง การ Tokenized Economy จะต้องมีกระบวนการแปลงสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์ทางการเงิน เช่น หุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ รวมถึงสินทรัพย์การลงทุนอย่างเช่นอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้สามารถครอบครองความเป็นเจ้าของผ่านโทเคนดิจิทัล และสามารถที่จะซื้อขายหรือโอนให้กันผ่านบล็อกเชนได้


          "การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน และเศรษฐกิจลงอย่างมาก การทำธุรกรรมหลายอย่างไม่ต้องผ่านคนกลาง โดยเฉพาะต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ จะลดลงมากที่สุด" นายอนุสรณ์ ระบุ

ข่าวแนะนำ