รมว.ทส. ประกาศย้ำจุดยืนในเวที COP28 ย้ำคนไทยตื่นตัวเรื่องโลกร้อนมากขึ้น
รมว.ทส. กล่าวถ้อยแถลงในเวที COP28 คนไทยตื่นตัวเรื่องโลกร้อนมากขึ้น และยืนยันได้ทำตามสิ่งที่ได้ให้คำมั่นไว้ พร้อมเรียกร้องทุกประเทศร่วมกันลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง
รมว.ทส.กล่าวถ้อยแถลงในเวที COP28 คนไทยตื่นตัวเรื่องโลกร้อนมากขึ้น และยืนยันได้ทำตามสิ่งที่ได้ให้คำมั่นไว้ พร้อมเรียกร้องทุกประเทศร่วมกันลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะโลกส่งสัญญาณแล้วว่า ปี 2023 กำลังจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุด
วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ณ Expo City เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลง ในช่วงการประชุมระดับสูง (High-level Segment) ของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ตอกย้ำจุดยืนประเทศไทย พร้อมเรียกร้องทุกประเทศร่วมกันลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง "โลกใบเดียวของเราส่งสัญญาณแล้วว่า ปี 2023 กำลังจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุด ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องร่วมกันลงมือทำ เพื่อให้ลูกหลานของเรามีโลกใบนี้ที่อาศัยอยู่ได้ต่อไป”
รมว.ทส. กล่าวในถ้อยแถลงย้ำต่อเวทีโลกว่า คนไทยตื่นตัวเรื่องโลกร้อนมากขึ้น และประเทศไทยยืนยันว่าได้ทำตามสิ่งที่ได้ให้คำมั่นไว้ เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานภายในประเทศที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมถึงพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อยกระดับการดำเนินงานต่อไป โดยประเทศไทยได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ค.ศ. 2030 ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ภายในปี ค.ศ. 2025 และจะต้องปรับเปลี่ยนระบบนิเวศเศรษฐกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงประชาชนทุกภาคส่วน
รัฐบาลไทย ยังได้เร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว โดยมีกลไกการเงินที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์อย่างเป็นระบบ
ทั้งยังได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบหลักในการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และจะสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวอีกด้วย นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการผลักดันตัวอย่างของการปรับตัวในภาคเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการรักษาความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ โดยมองว่าการระดมเงิน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2025 จะเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายของประเทศกำลังพัฒนา
ทั้งนี้ ประเทศไทย ในฐานะรัฐภาคี ยินดีที่จะได้เห็นความชัดเจนของกองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหาย ใน COP28 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประเมินสถานการณ์การดำเนินงานระดับโลก จะสะท้อนให้เห็นเส้นทางสู่ 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายของความตกลงปารีส
ภาพจาก รัฐบาลไทย / AFP