สิทธิบัตรทอง เจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาฟรีที่ร้านยาใกล้บ้านได้ จริงหรือ?
สปสช.เพิ่มบริการสิทธิผู้ถือบัตรทอง เจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาฟรีที่ร้านขายยาได้ จริงหรือไม่?
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสปสช. เพิ่มบริการบัตรทอง เจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาฟรีที่ร้านขายยาได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
สปสช.จับมือสภาเภสัชกรรมเพิ่มทางเลือกใหม่ดูแลผู้มีสิทธิบัตรทอง “บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิ” ซึ่งขณะนี้มีจำนวนกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ครอบคลุมบริการ 16 กลุ่มอาการที่เป็นไปตามแนวทางและมาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิโดยสภาเภสัชกรรม ได้แก่
อาการปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน บาดแผล ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหู พร้อมติดตามอาการหลังรับยา 3 วัน และพร้อมให้คำปรึกษา รับยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพิ่มช่องทางรับบริการสุขภาพให้กับประชาชน
ซึ่งสามารถสังเกตร้านยาเข้าร่วมที่ติดสติกเกอร์ด้านหน้า “ร้านยาคุณภาพของฉัน” บริการเภสัชกรรมปฐมภูมินี้ ซึ่งประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจาก สปสช. ได้สนับสนุนการจ่ายชดเชยให้ร้านยา ทั้งค่าบริการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม ค่ายาและเวชภัณฑ์ และค่าติดตามอาการและผลการดูแล โดยเหมาจ่ายในอัตรา 180 บาทต่อครั้ง
นอกจากนี้ บริการเภสัชกรรมปฐมภูมินี้คาดว่าระบบจะมีความพร้อมและให้บริการได้ในเร็ว ๆ นี้ พร้อมกันทั่วประเทศ โดยสปสช.จะประกาศและแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ซึ่งร้านยาชุมชนอบอุ่นที่ร่วมให้บริการ จะต้องผ่านการอบรมและควบคุมโดยสภาเภสัชกรรม สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการ มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ
1. คนไข้ติดต่อไปยัง สปสช. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้รับบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน
2. ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th หรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิคนไข้ว่าจะสามารถรับบริการตามสิทธิบัตรทองได้หรือไม่ หากมีสิทธิก็รับการดูแลโดยเภสัชกร ซึ่งจะให้คำแนะนำและให้ยารักษาตามอาการ หรือแนะนำให้พบแพทย์ในกรณีที่มีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ กรณีที่รับยาจากร้านยาแล้ว เภสัชกรจะติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการจ่ายยา หากอาการดีขึ้นก็จะสิ้นสุดการดูแล กรณีอาการแย่ลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีระบบการจัดการเพื่อส่งต่อเข้าสู่การรักษาต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือโทรสายด่วน 1330 หรือเพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. พิมพ์ @nhso สอบถามข้อมูล
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูลจาก : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
ภาพจาก : AFP