รัฐเร่งปฎิรูปสิทธิรักษาพยาบาล 4 กองทุน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมหารือในภาพรวม การใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลผ่าน 4 กองทุนหลัก ยอมรับว่าเงินค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลปีที่ผ่านมา สูงถึง 360,000 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 11 ต่อปี สูงกว่าการขยายตัวของจีดีพีของประเทศ จึงเห็นชอบให้ตั้งอนุกรรมการด้านวิชาการ และอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนนโยบาย

เพื่อหาแนวทางลดความเหลื่อมล้ำค่ารักษาพยาบาลของ 4 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนประกันสังคม, กองทุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทอง 30 บาท ,กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)


สรุปข่าว

รัฐบาลเร่งปฏิรูปสิทธิรักษาพยาบาล 4 กองทุน เดินหน้าปรับสวัสดิการรักษาลดความเหลื่อมล้ำ เผยยอดค่ารักษาปีที่ผ่านมาสูงถึง 360,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามยืนยันว่า รัฐบาลยังคงสิทธิ์การรักษาพยาบาลผ่านกองทุนในปัจจุบันตามประเภทสมาชิกกองทุนเหมือนเดิม แต่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพสวัสดิการให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น รวมไปถึงหาช่องทางแก้ปัญหาการใช้ยาของโรงพยาบาล ด้วยการเน้นใช้ชื่อยาสามัญมากกว่า การใช้ชื่อทางการค้า 

เพราะปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศ 200,000 ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 50 ของการใช้ยาทั้งหมด อีกทั้งหมอมักจะนิยมใช้ชื่อทางการค้าเพื่อใช้ในการรักษาเป็นหลัก เพื่อลดปัญหาการนำเข้า หรือมีแนวทางการผลิตยาให้มีคุณภาพ


สำหรับปัจจุบันระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศมี 4 ระบบใหญ่ คือ ระบบรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคม, ระบบรักษาพยาบาลของ สปสช. หรือบัตรทอง 30 บาท ,ระบบสวัสดิการของข้าราชการ และระบบรักษาพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรวมคนที่อยู่ในทั้งสี่ระบบ ราว 64 -65 ล้านคน 

โดยแต่ละระบบมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยต่อหัวไม่เท่ากัน โดย ประกันสังคมอยู่ที่ 4,900บาท/หัว ขณะที่สปสช.อยู่ที่ 3,800บาท/หัว  ส่วนระบบรักษาพยาบาลของข้าราชการ 18,000 บาท/หัว และขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ที่  12,000 บาท/หัว

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN