สพฐ.ขานรับครม.เพิ่มเงินรายหัวฯนักเรียนลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง
สพฐ.ขานรับครม.เพิ่มเงินรายหัวฯนักเรียนลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง ตอบโจทย์พัฒนาการศึกษา
วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ นำโดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เสนอขอปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ล่าสุดในที่ประชุมครม. (26 ก.ค.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียนและเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือก โดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566-2569 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
นายอัมพรฯ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบในการปรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวฯ ใน 4 รายการ ได้แก่
1) ค่าจัดการเรียนการสอน
2) ค่าอุปกรณ์การเรียน
3) ค่าเครื่องแบบนักเรียน
4) ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (ในส่วนค่าหนังสือไม่ได้เสนอปรับในครั้งนี้ เนื่องจากมีการปรับอย่างต่อเนื่อง)
โดยค่าจัดการเรียนการสอน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 20 ค่าอุปกรณ์การเรียน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 15 ค่าเครื่องแบบนักเรียน จากเดิมที่ได้ไม่เต็มชุดก็ได้เต็ม 1 ชุด และเพิ่มอีก 1 ชุดสำหรับเด็กยากจน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 30 จากที่ทั้ง 4 รายการไม่ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนฯมานานมากกว่า 10 ปี โดยปรับครั้งล่าสุดในปี 2553
ดังนั้น การเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนฯ ครั้งนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียน จำนวนกว่า 11.5 ล้านคน และลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ครอบครัวนักเรียนยากจนลงได้ รวมทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาในการจัดการศึกษาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน / TNN ONLINE