เผยคนไทยติดความหวานในกาแฟ แนะวิธีลดให้เลือกแก้วเล็ก
องค์การอนามัยโลก ได้ออกคำแนะนำว่าไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 25 กรัมต่อวัน หรือ 4-6 ช้อนชาต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
องค์การอนามัยโลก ได้ออกคำแนะนำว่าไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 25 กรัมต่อวัน หรือ 4-6 ช้อนชาต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แต่มีข้อมูล น่าตกใจว่าคนคนไทยบริโภคน้ำตาลวันละ 21 ช้อนชา ครึ่งหนึ่งมาจากเครื่องดื่ม ซึ่งน้ำตาลเป็นสาเหตุของการเกิดโรคกลุ่ม NCDs เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังก่อให้เกิดฟันผุด้วย
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคเครื่องดื่มเย็น โดยเฉพาะกาแฟเย็น สังเกตได้จากเริ่มเข้าสู่ช่วงนักศึกษา ก็มีกระแสบริโภคเครื่องดื่มเย็น จนเข้าสู่วัยทำงานยังมีภาพถือแก้วเครื่องดื่มเย็นมากขึ้น
“จริงๆ แล้วคนไทยไม่ได้ติดกาแฟ แต่คนไทยติดความหวานในกาแฟ” ทพญ.ปิยะดา ให้ความเห็น และแสดงความเป็นห่วงว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งต่อไปจะเป็นคนที่อยู่ในวัยทำงานเป็นที่พึ่งของประเทศ ถ้าปล่อยให้การปล่อยบริโภคแบบนี้จะเป็นสังคมที่อุดมน้ำตาล สังคมไทยจะเป็นสังคมเอ็นซีดี จากภาพเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน มีแคมเปญรณรงค์ให้มีร้านกาแฟอ่อนหวาน ทำกิจกรรมรณรงค์ขอความร่วมมือจากร้านกาแฟทั้งหลายทำให้มีสูตรของกาแฟที่ลดปริมาณน้ำตาลลง
ที่ผ่านมา เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้มีการสำรวจร้านเครื่องดื่มชงในย่านต่างๆ ของกรุงเทพ พบว่า ร้านในย่านอนุสาวรีย์ ถนนราชวิถี พบน้ำตาลในเครื่องดื่ม 1 แก้วมากว่า 10 ช้อนชาไปถึง 20 ช้อนชาขณะที่ย่านสีลม สถานศึกษามหาวิทาลัยมหิดล ย่านศาลายา มีน้ำตาลในเครื่องดื่มน้อยกว่า อาจเป็นเพราะว่าช่วงอนุสาวรีย์ชัยเป็นที่รวมของคนทุกระดับ ขณะที่ย่านสีลมเป็นพนักงานออฟฟิศเป็นคนรักษาสุขภาพมาก
ตลอดระยะเวลา 10 ปีของการทำแคมเปญของเครือข่ายคนไทยไม่กินหวาน ภายโครงการรณรงค์ศูนย์เด็กเล็กอ่อนหวาน โครงการโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมเป็นต้น จนเป็นแรงกระเพื่อมให้มีภาษีความหวานขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนคนไทยลดบริโภคลดหวาน รวมถึงการสั่งซื้อเครื่องดื่มผ่านแพลตฟอร์ม ที่มีไรเดอร์เป็นคนนำส่ง ทางเครือข่ายได้ทำงานกับแพลตฟอร์มให้มีตัวเลือกในเมนูให้เลือกหวานมากหวานน้อยด้วย
ทพญ.ปิยะดา กล่าวด้วยว่า ก้าวต่อไปในปีที่ 11 ของเครือข่ายฯ ยังทำงานรณรงค์สร้างกระแสให้ผู้บริโภคสั่งเครื่องดื่มหวานน้อย ภายใต้สโลแกนที่ว่า “หวานน้อยสั่งได้” อย่างน้อยลดความลง 25% และ 50% ของความหวานปกติ ทั้งนี้การแบ่งความหวาน 25 และ 50 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากประสบการณ์ของเครือข่ายฯ โดยหมอทำงานลดน้ำหนักให้คนไข้ที่ต้องการลดน้ำหนัก แต่ติดกาแฟให้ทดลองดื่มเครื่องดื่มจนปริมาณลดความหวานลงได้ เนื่องจากในผู้ใหญ่ลิ้นรับรสชาติความหวานมานาน ถ้าให้เลิกกินหวาน โดยทันทีจะทำได้ยาก จึงต้องค่อยๆ ลดปริมาณความหวานลงในที่สุดจะลดการกินหวานได้
“เชื่อได้ว่าเมื่อผู้คนเกิดความตระหนักในการดื่มเครื่องดื่มรสหวานน้อยลงจะทำให้คนที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินมีน้ำหนักตัวลดลง” ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวและแนะนำว่า สำหรับคนที่ยังติดหวานอยู่และลดไม่ได้ ควรสั่งแก้วเล็ก ขณะนี้มีหลายร้านค้ามีให้ขนาดแก้วของเครื่องดื่มให้เลือก แม้ว่าร้านค้าจะมีแคมเปญซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง ก็ต้องตัดใจ เพราะส่วนที่แถมจะแถมโรคมาให้ด้วย
อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายฯ ไม่สนับสนับสนุนให้ใช้สารสารทดแทนความหวาน ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า เนื่องจากชื่อเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่หวานจึงไม่สนับสนุน ถ้าหากใช้สารทดแทนความหวานแสดงว่ายังเป็นคนติดหวานอยู่ ซึ่งมีผลการศึกษามีความชัดเจนว่า คนที่ใช้สารทดแทนความหวาน ระดับการเกิดความอ้วนไม่ต่างกัน และที่สำคัญในร่างกายเราจะมีจุดรับรสทั่วร่างกาย เมื่อกินสารให้ความหวานร่างกายยังรับได้อยู่ว่ากินหวานเข้ามา แม้จะเป็นสารทดแทนความหวานก็ตาม ซึ่งการพยายามฝึกลิ้นเราเอง ให้ลิ้มรสความหวานจากธรรมชาติขึ้นมาเรื่อยๆ จะช่วยลดการบริโภคหวานลงได้
“สารทดแทนความหวานเอาไว้ช่วยให้สำหรับแรกๆ ของคนที่ยังไม่สามารถลดได้จริงๆ ในระยะหนึ่ง ถ้าเรายังสบายใจกับสารทดแทนความหวาน นั่นคือคุณเป็นมนุษย์ติดหวาน ไม่แน่ใจว่าในระยะยาวจะมีผลต่อร่างกายหรือไม่ แม้จะเคลมว่าเป็นสมุนไพรก็ตาม อย.มีการควบคุมปริมาณ หากทานมากไปอาจมีพิษต่อร่างกาย เช่นเดียวกับคนที่รับประทานอาหารคาวแล้วต้องกินหวานแสดงว่าติดหวาน”
ทั้งนี้ตามหลักโภชนาการเกลือและน้ำตาลอยู่ในธงโภชนาการที่ปลายธงจึงมีคำแนะนำว่าเกลือและน้ำตาลไม่ควรบริโภคเกิน 10% ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าถ้า 5% ยิ่งดี
ภาพ TNNONLINE