ภัยเงียบ "มะเร็งสมอง" เปิดสาเหตุ-อาการเนื้องอกในสมอง
กรมการแพทย์ ชี้ "มะเร็งสมอง" ภัยเงียบ แต่มีสัญญาณเตือนให้สังเกตได้ ชี้ อาการของเนื้องอกในสมอง ขึ้นอยู่กับ "ชนิด ขนาด และตำแหน่งที่เกิด"
วันนี้ (16 ก.พ.65) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า "เนื้องอกในสมอง" คือ เนื้อเยื่อที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์สมอง หรือเนื้อเยื่อและต่อมต่าง ๆ บริเวณโดยรอบเนื้อสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท
"เนื้องอกในสมอง" มีอาการอย่างไร?
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า อาการของเนื้องอกในสมองนั้น จะขึ้นอยู่กับ "ชนิด ขนาด และตำแหน่งที่เกิด" เช่น มีอาการอ่อนแรงแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง อาการชัก มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน การมองเห็น ความจำ
และหากเนื้องอกนั้นมีขนาดใหญ่หรือเกิดในตำแหน่งที่ส่งผลเพิ่มแรงดันในสมอง กดเบียดรั้งเยื่อหุ้มสมอง อาจจะทำให้มีอาการปวดหัว อาเจียนพุ่งได้
ทั้งนี้ เนื้องอก แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
1. เนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดา เป็นเนื้องอกที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติแต่เติบโตช้า ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง สามารถรักษาให้หายหรือมีขนาดเล็กลงได้ และมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นซ้ำอีกหลังการรักษา
2. เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย เป็นเนื้องอกที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ คือ เซลล์มะเร็ง อาจเกิดเริ่มต้นที่บริเวณสมอง หรือเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นแล้วกระจายเข้าสู่สมองก็ได้ เนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งจะมีการเจริญเติบโตเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว ควบคุมได้ยาก และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีกหลังการรักษา
สาเหตุการเกิด "เนื้องอกในสมอง"
ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า สาเหตุของเนื้องอกในสมองแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ อาจเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์เนื้อเยื่อ เซลล์ที่มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตผิดปกติจะทำให้เกิดการทำงานผิดปกติทางระบบประสาท หรืออาจมีสาเหตุจากเซลล์มะเร็งที่อวัยวะส่วนอื่น ลุกลามโดยตรงหรือกระจายเข้าสู่สมองทางกระแสเลือดก็ได้
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคเนื้องอกสมองแบบจำเพาะเจาะจง แต่พบว่า อายุที่เพิ่มมากขึ้น การได้รับรังสีอันตรายปริมาณสูงเข้าสู่ร่างกาย หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเนื้องอกในสมอง เป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเนื้องอกสมองได้
แนวทางการรักษา "เนื้องอกในสมอง"
แนวทางการรักษาเนื้องอกสมองในปัจจุบันมีอยู่ 3 วิธีหลัก คือ การผ่าตัด ฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะเลือกแนวทางที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย หากผู้ป่วยมีเนื้องอกขนาดเล็กมากและไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ อาจจะเลือกวิธีติดตามอาการ
หากพบขนาดใหญ่ขึ้นหรือทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท จึงค่อยเริ่มการรักษา หากมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทดังกล่าวข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ และรักษาอย่างทันท่วงที.
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP