นาซาพบออกซิเจนในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์เป็นครั้งแรก
นาซาตรวจพบออกซิเจนในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์เป็นครั้งแรก ในด้านที่หันหน้าไปทางดวงอาทิตย์
วันนี้ (21พ.ย.66) องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา (NASA) และศูนย์การบินและอวกาศเยอรมนี เปิดเผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับดาวศุกร์ ล่าสุดหลังจากใช้เครื่องมือบนหอดูดาวโซเฟีย (SOFIA) ซึ่ง เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 747 SP ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดไว้ได้ตรวจพบออกซิเจนในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์โดยตรงเป็นครั้งแรก โดยพบในด้านที่ดาวศุกร์ หันหน้าไปทางดวงอาทิตย์ ซึ่งออกซิเจนถูกผลิตขึ้นมาจริงในชั้นบรรยากาศบริเวณดังกล่าว
นักวิจัยระบุว่า ออกซิเจนถูกสร้างขึ้นบนฝั่งกลางวัน โดยรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ซึ่งสลายก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ ในชั้นบรรยากาศ และคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นอะตอมออกซิเจน และสารเคมีอื่น ๆ จากนั้นออกซิเจนบางส่วน จะถูกลมพัดพาไปยังด้านกลางคืนของดาวศุกร์
สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับดาวศุกร์ก่อนหน้านี้คือ กรณี ยานพาร์คเกอร์ โซลาร์ ของนาซา ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจศึกษาดวงอาทิตย์ พบข้อมูลใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับพายุสายฟ้าที่เกิดขึ้นบนดาวศุกร์ โดยสายฟ้า หรือ หรือแสงเรือง ที่เกิดขึ้นบนดาวศุกร์ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่าเป็นฟ้าผ่า อาจไม่ใช่ฟ้าผ่าทั้งหมด แต่เกี่ยวข้องกับการรบกวนในสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ หรือ เส้นสนามแม่เหล็กที่ล้อมรอบดาวศุกร์ สามารถแยกออกจากกันแล้วกลับมารวมกันอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าบนดาวศุกร์ มีฟ้าผ่ามากกว่าบนโลกถึง 7 เท่า ซึ่งเรื่องนี้มีการถกเถียงกันมานาน ขณะที่ ในรายงานเมื่อปี 2564 ระบุว่า สายฟ้า บนดาวศุกร์อาจเกิดจากอุกกาบาตที่ลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศ และข้อมูลใหม่ต่างๆ เกี่ยวกับดาวศุกร์จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจลักษณะของดาวศุกร์ คู่แฝดของโลกเราได้มากขึ้น
ภาพ: AFP