TNN ชวนชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” เศษฝุ่นจากวงโคจร “ดาวหางฮัลเลย์ ”

TNN

วิทยาศาสตร์

ชวนชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” เศษฝุ่นจากวงโคจร “ดาวหางฮัลเลย์ ”

ชวนชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” เศษฝุ่นจากวงโคจร “ดาวหางฮัลเลย์ ”

สดร. ชวนชม“ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” เศษฝุ่นจากวงโคจร “ดาวหางฮัลเลย์ ” ในคืนช่วงปลายเดือนตุลาคม

ชวนชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” คืน 21 ต.ค. ถึงรุ่งเช้า 22 ต.ค. 66 เวลาประมาณ 22.30 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก  คาดปีนี้มีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง คืนดังกล่าวอาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย แนะจุดชมให้อยู่ในที่มืดสนิทและห่างจากเมือง หากปลอดฝนชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยข้อมูลว่า ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพราน เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม -7 พฤศจิกายน ของทุกปี มีอัตราการตกสูงสุดในคืน 21 - 22 ตุลาคม 2566 คาดมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายอยู่ใกล้กลุ่มดาวนายพราน ทางทิศตะวันออก

เนื่องจากวันดังกล่าวมีแสงจันทร์รบกวน จึงแนะนำให้อยู่ในที่ห่างจากเมืองหรือบริเวณที่มืดสนิทเพื่อให้เหลือแสงรบกวนสายตาน้อยที่สุด สำหรับวิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ มองด้วยตาเปล่า ตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก หากฟ้าใสไร้ฝนสามารถชมความสวยงามของดาวตกโอไรออนิดส์ได้ทั่วประเทศ

ชวนชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” เศษฝุ่นจากวงโคจร “ดาวหางฮัลเลย์ ”

“ฝนดาวตกโอไรออนิดส์”  เกิดขึ้นได้อย่างไร ? 

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจรขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กเหล่านั้นเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า


ข้อมูลจาก :  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก AFP 

ข่าวแนะนำ