
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ดาวศุกร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่ปรากฏสว่างที่สุด สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ปรากฏสว่างเด่นชัดทางทิศตะวันตก หากดูผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์
และในช่วงเวลาดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์ปรากฏถัดลงมาใกล้ขอบฟ้า อีกทั้งยังมีดาวพฤหัสบดีปรากฏสว่างบริเวณกลางท้องฟ้า และดาวอังคารปรากฏสว่างเป็นสีส้มแดงทางทิศตะวันออกอีกด้วย หากทัศนวิสัยท้องฟ้าดีสามารถชมความสวยงามของดาวศุกร์ และดาวเคราะห์ต่าง ๆ ได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน

สรุปข่าว
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุด คือ ช่วงที่ดาวศุกร์โคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม และมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ทำให้สะท้อนแสงได้มากที่สุด จึงปรากฏสว่างมากบนท้องฟ้า สำหรับในช่วงอื่น แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย
สำหรับคนไทยจะมีชื่อเรียกดาวศุกร์ในแต่ละช่วงเวลาต่างกันไป ได้แก่ "ดาวประจำเมือง" คือ ดาวศุกร์ที่ปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ และ "ดาวประกายพรึก" คือ ดาวศุกร์ที่ปรากฏทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด
ทั้งนี้ ดาวศุกร์สว่างที่สุด ในครั้งที่ 2 ของปีนี้ จะปรากฏดาวศุกร์สว่างช่วงเช้ามืด ในวันที่ 24 เมษายน 2568 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. จนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า
ที่มาข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ที่มารูปภาพ : Envato