เปิดภาพ "ซูเปอร์บลูมูน" ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี
เปิดภาพ "ซูเปอร์บลูมูน" ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ชาวเชียงใหม่แห่ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์คึกคัก
เปิดภาพ "ซูเปอร์บลูมูน" ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ชาวเชียงใหม่แห่ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์คึกคัก
30 สิงหาคม 2566 นักเรียน นักศึกษา และพ่อแม่ผู้ปกครองพาลูกหลาน เดินทางมายังอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ “ซูเปอร์บลูมูน” (Super Blue Moon ) ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมขึ้น ณ 4 จุดสังเกตหลักใน 4 ภูมิภาคพร้อมกันทั่วประเทศ คือ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ , หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดฉะเชิงเทรา , หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสงขลา และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
โดยบรรยากาศที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เป็นไปอย่างคึกคัก มีการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้ประชาชนร่วมสังเกตปรากฏการณ์ซูเปอร์บลูมูนอย่างใกล้ชิดถึง 5 ตัว แต่สภาพอากาศในช่วงค่ำคืนนี้ท้องฟ้าเต็มไปเมฆสีเทา จนเป็นอุปสรรคในการมองเห็นซุปเปอร์ฟูลมูน ซึ่งเริ่มปรากฎให้เห็นหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าตั้งแต่เวลา 18.09 น.
อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่ยังปักหลักเพื่อรอลุ้นชมว่าเมฆที่บดบังท้องฟ้าอยู่จะเปิด ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะในช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา เมฆค่อยๆเปิดจนเผยให้เห็นปรากฏการณ์ซูเปอร์บลูมูนใกล้โลกที่สุดในรอบปีราว 10 นาที
ขณะที่ประชาชนพากันต่อแถวเพื่อรอชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ผ่านกล้องโทรทรรศน์จนแถวยาวเหยียด จนหลายคนเลือกชมด้วยตาเปล่า และนำกล้องจากมือถือขึ้นมาถ่ายภาพความสวยงามเก็บไว้เป็นที่ระลึก
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายว่า บลูมูน (Blue Moon) ไม่ได้หมายถึงดวงจันทร์สีน้ำเงิน ในทางดาราศาสตร์แล้ว บลูมูน หมายถึงดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ปกติแล้วดวงจันทร์มีคาบการโคจรรอบโลกประมาณ 29.5 วัน ในขณะที่หนึ่งเดือนในปฏิทินที่เราใช้กันมี 30-31 วัน ส่งผลให้เมื่อวันเวลาผ่านไป บางเดือนมีวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนและปลายเดือน ซึ่งนานทีจะเกิดขึ้น และอาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงสำนวนภาษาอังกฤษอย่าง Once in a blue moon ที่หมายถึงอะไรที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือนาน ๆ จะเกิดขึ้นที
บลูมูนครั้งนี้ นับเป็นบลูมูนในรอบ 3 ปี ครั้งล่าสุดที่เกิดบลูมูนคือวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งในครั้งนั้นนอกจากจะตรงกับวันฮาโลวีนแล้ว ยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) พอดีอีกด้วย
ส่วนปีนี้ เราน่าจะทราบกันแล้วว่าตรงกับช่วง ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) จึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า Super Blue Moon นอกจากจะเป็นดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ของเดือนแล้ว ยังเป็นดวงจันทร์ที่ขนาดปรากฏจะใหญ่กว่าปกติ (และแน่นอนว่ามมองเห็นเป็นดวงจันทร์สีขาวนวลเหมือนทุกวัน) เวลาที่เหมาะสมสำหรับชมความสวยงามคือคืน 30 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้า 31 สิงหาคม 2566
หากคืนดังกล่าวฟ้าใสไร้เมฆ สามารถชมความสวยงามด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ หรือถ้าอยากเห็นแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ก็มาชมกับ NARIT ได้ที่หอดูดาวทั้ง 4 แห่งที่เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา และฉะเชิงเทรา