นักวิชาการจุฬาฯ ย้ำ!! อาหารแปรรูป-อาหารแช่แข็ง กินได้ปลอดภัย แนะเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน
นักวิชาการเทคโนโลยีอาหาร จุฬาฯ ย้ำผู้บริโภคสามารถรับประทานอาหารแปรรูป-อาหารแช่แข็ง ได้อย่างปลอดภัยในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่กับการรับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ แนะอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์และเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานเชื่อถือได้ เพื่อสุขภาพที่ดี
รศ.ดร.กิติพงศ์ อัศตรกุล ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็ง ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคสะดวกสบาย ประหยัดเวลา ได้รับคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับอาหารปรุงสด อีกทั้งง่ายในการเลือกซื้อ สามารถสังเกตเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ เช่น เครื่องหมาย GMP GHP-HACCP ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่บ่งชี้ว่าโรงงานมีคุณภาพในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย รวมถึงเครื่องหมาย อย. ที่ยืนยันว่าผู้ผลิตอาหารปฏิบัติตามข้อกฎหมาย
"อาหารแปรรูป และ อาหารแช่แข็ง กินได้อย่างปลอดภัยในปริมาณที่เหมาะสม โดยใช้หลักการเดินสายกลาง ไม่กินอาหารบางประเภทเยอะมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ขาดสารอาหารที่สำคัญจากอาหารชนิดอื่นๆ ควรกินให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ซึ่งมีผลวิจัยระบุว่าการบริโภคผักและผลไม้ให้เพียงพอในแต่ละวัน รวมถึงการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs : Non-Communicable Diseases) ได้ ที่สำคัญควรระวังการรับประทานอาหารที่มีรสชาติ หวาน มัน เค็ม จนเกินไป หลังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการบริโภคอาหารลักษณะดังกล่าว มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง เป็นต้น ดังนั้นจึงควรกินอาหารรสชาติกลางๆ จะส่งเสริมสุขภาพได้ดีกว่า" รศ.ดร.กิติพงศ์ กล่าว
สำหรับ โซเดียม เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย จัดอยู่ในจำพวกเกลือแร่ ร่างกายได้รับโซเดียมจากอาหารควบคู่ไปกับคลอไรด์ในรูปโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride) หรือเกลือแกง (NaCl) โดยนิยมใช้ในการถนอมอาหารตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น การดองเกลือ ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ ทำให้สามารถเก็บอาหารได้นานขึ้น สำหรับการใช้เกลือในอุตสาหกรรม เพื่อการถนอมอาหารและปรุงรสอาหาร แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เกลือสมุทร (เกลือจากทะเล) เกลือสินเธาว์ (เกลือจากบ่อเกลือภูเขา) เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน (เกลือที่มีการเสริมแร่ธาตุไอโอดีน) โดยปริมาณบริโภคโซเดียมไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่ากับเกลือที่ใช้ปรุงอาหารไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือน้ำปลาไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน
รศ.ดร.กิติพงศ์ แนะนำว่า การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ควรให้ความสำคัญกับข้อมูลฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์ เช่น ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (GDA : Guideline Daily Amounts) ที่แสดง “ข้อมูลโภชนาการที่สำคัญต่อร่างกาย” (พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม) เพื่อเลือกอาหารให้เหมาะสมกับผู้บริโภค เพราะในแต่ละบุคคลมีความต้องการปริมาณพลังงานและสารอาหารที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ควรดูวันผลิตและวันหมดอายุ หากอาหารหมดอายุไม่ควรบริโภคเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ เช่น ท้องเสีย ท้องร่วง ด้านผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการ ต้องปฏิบัติตามมาตฐานต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าสินค้าดังกล่าวรับประทานได้อย่างปลอดภัย