
หมอเจด เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “หมอเจด” ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ เรื่อง แค่แสบท้อง? ระวัง! กรดไหลย้อนเสี่ยงมะเร็ง!
โดยระบุว่า หลายคนอาจเคยมีอาการ “แสบหน้าอก เรอบ่อย จุกแน่นกลางอก” แล้วคิดว่าแค่กินรสจัด นอนดึก หรือเครียดมากไป
แต่รู้มั้ยว่านี่อาจเป็นสัญญาณของ “กรดไหลย้อน” ที่ถ้าปล่อยไว้เรื้อรัง เสี่ยงถึงขั้นมะเร็งหลอดอาหารเลยทีเดียว

สรุปข่าว
วันนี้ลยอยากมาเล่าให้ฟังนะ ว่า กรดไหลย้อนจริงๆ แล้วมีทั้งหมด 4 ระยะ แต่ระยะมีอาการยังไง จะได้รีบป้องกันไว้ก่อนเป็นมะเร็ง
1. กรดไหลย้อนคืออะไร? ทำไมใครๆ ก็เป็น
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนนะว่า กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD)
คือภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร
โดยปกติแล้วในร่างกายเราจะมี "กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง" (Lower Esophageal Sphincter)
ทำหน้าที่เหมือนประตูปิดระหว่างกระเพาะกับหลอดอาหาร แต่ถ้ากล้ามเนื้อนี้อ่อนแรงหรือเปิดบ่อยเกินไป กรดก็จะไหลย้อนขึ้นมาได้
สาเหตุมีหลายอย่าง เช่น
-กินแล้วนอนทันที
-น้ำหนักเกิน/อ้วนลงพุง
-ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ หรือเครื่องดื่มมีคาเฟอีน
-ความเครียดและพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม
อาการที่พบบ่อย ได้แก่
-แสบร้อนกลางอก
-เรอบ่อย รู้สึกขมในปาก
-จุกแน่น คล้ายอาหารไม่ย่อย
-เสียงแหบ ไอเรื้อรัง เจ็บคอเรื้อรัง
2. กรดไหลย้อน 4 ระยะ แยกยังไง? อันไหนน่ากลัว
อาการของกรดไหลย้อนไม่ได้เหมือนกันทุกคน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะหลักๆ ตามนี้เลย
- ระยะที่ 1 อาการน้อยๆ แต่เริ่มรบกวน
อาจมีอาการแค่ตอนกินรสจัด หรือนอนผิดเวลา เช่น เรอบ่อย แสบร้อนกลางอกบางครั้งแต่ยังไม่ถึงกับทรมาน
สิ่งที่ควรทำคือ ปรับพฤติกรรม เช่น ไม่กินอิ่มเกินไป เลี่ยงของมัน ชา กาแฟ และพยายามอย่านอนทันทีหลังอาหาร
- ระยะที่ 2: เริ่มมีอาการชัดเจนและถี่ขึ้น
มีอาการแสบกลางอกบ่อยขึ้น อาจเกิดทุกสัปดาห์ หายใจไม่สุด ท้องอืดเรื้อรัง
สิ่งที่ควรทำคือ นอกจากปรับพฤติกรรมแล้ว ควรเริ่มปรึกษาหมอและอาจต้องเริ่มใช้ยา
เช่น ยาลดกรด หรือกลุ่ม Proton Pump Inhibitor (PPI)
- ระยะที่ 3: อักเสบเรื้อรัง หลอดอาหารเริ่มเสีย
การอักเสบเริ่มทำให้ผนังหลอดอาหารบวมแดงหรือเกิดแผล อาจมีเสียงแหบ ไอเรื้อรัง เลือดปนในเสมหะหรืออาเจียนได้
สิ่งที่ควรทำคือ ต้องรักษาอย่างจริงจัง ควบคุมอาการด้วยยา และอาจต้องส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารเพื่อดูความเสียหายภายใน
- ระยะที่ 4: เสี่ยงกลายเป็นมะเร็ง
เรียกว่า Barrett’s Esophagus เป็นภาวะที่เซลล์เยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนไปเป็นลักษณะผิดปกติ เสี่ยงกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหาร
สิ่งที่ควรทำคือ ต้องติดตามอาการเป็นระยะๆ ส่องกล้องเป็นประจำ และในบางคนอาจต้องผ่าตัดหรือรักษาเฉพาะทางร่วมด้วย
3. ทำไมถึงเสี่ยง “มะเร็งหลอดอาหาร”?
การที่กรดจากกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาบ่อยๆ ทำให้เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง เมื่อเซลล์โดนกระตุ้นซ้ำๆ มันจะ “พยายามเปลี่ยนตัวเอง” ให้ทนกรดได้มากขึ้น จนเกิดเป็นภาวะ Barrett’s Esophagus ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ (metaplasia) นำไปสู่ความเสี่ยงมะเร็งในอนาคต แม้โอกาสจะไม่สูงมาก แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา โอกาสแย่ลงก็สูงขึ้นทุกปี
4. รักษายังไงดี? แค่กินยาพอไหม
วิธีการรักษากรดไหลย้อนให้ดีขึ้นตามนี้ได้เลย
ปรับพฤติกรรม
-ไม่กินแล้วนอนทันที รออย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
-กินมื้อเล็กๆ แต่บ่อย
-งดของทอด ของมัน อาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
-งดชา กาแฟ โซดา แอลกอฮอล์
-ลดน้ำหนักถ้ามีภาวะอ้วน
เสริมสมดุลในระบบย่อยด้วย “โพรไบโอติกส์”
-โพรไบโอติกส์คือจุลินทรีย์ดีที่ช่วยสร้างสมดุลในลำไส้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อกรดไหลย้อนมากกว่าที่หลายคนคิด:
ช่วยลดแก๊สในกระเพาะ
จุลินทรีย์ดีช่วยลดแบคทีเรียที่ผลิตแก๊สในกระเพาะและลำไส้ ทำให้ลมไม่ตีขึ้นมา ช่วยลดแรงดันที่ผลักกรดขึ้นไปหลอดอาหาร
-ลดการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะ
โพรไบโอติกส์ยังช่วยผลิตกรดไขมันสายสั้น (เช่น Butyric acid) ที่ช่วยฟื้นฟูเยื่อบุกระเพาะให้แข็งแรง ลดอาการแสบร้อนเมื่อเจอกับกรด
ใช้ยา
-กลุ่มยาลดการหลั่งกรด เช่น PPI (omeprazole, esomeprazole)
-ยาเคลือบกระเพาะหรือลำไส้
-บางกรณีอาจใช้ยาเร่งการเคลื่อนตัวของอาหารในกระเพาะ (prokinetics)
-ส่องกล้อง-ผ่าตัด (ในบางราย)
ถ้าเป็นระยะรุนแรงหรือพบว่าเยื่อบุเปลี่ยนแปลง ต้องมีการติดตามระยะยาว หรือรักษาด้วยการผ่าตัด
เช่น การตัดเนื้อเยื่อผิดปกติ การผ่าตัดซ่อมหูรูด ฯลฯ
5. สรุปแบบเข้าใจง่าย
อาการเล็กๆ น้อยๆ ที่เราคิดว่าไม่เป็นไร ถ้าปล่อยไว้นานไปมันอาจกลายเป็นมะเร็งได้ในอนาคตนะครับ
เพราะฉะนั้น กรดไหลย้อนเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่กินยาครั้งสองครั้งแล้วหาย
ถ้าเริ่มมีอาการบ่อยขึ้นทุกเดือน หรือเริ่มกระทบการใช้ชีวิต ควรหาหมอเพื่อตรวจเช็กก่อนที่จะสายเกินไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เช็กด่วน! สัญญาณเตือนอาจเป็น "มะเร็ง" ได้ใน 6 เดือน อาการอะไรบ้างที่ต้องจับตา
- 5 ปัจจัย คนไทยอายุต่ำกว่า 50 ปีป่วย "มะเร็ง" มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2 เท่า
-โรคหลอดเลือดสมอง! คร่าชีวิตคนไทยสูงรองจากมะเร็ง เช็กอาการ-วิธีป้องกัน

ธัญวรัตน์ น่วมภักดี