
นพ.เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ จิตแพทย์ประจำ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ได้โพสต์เฟซบุ๊ก คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา ระบุว่า
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น หมอได้เห็นหลายๆคลิปสะท้อนภาพของผู้คนที่เกิดความตื่นตระหนก วิ่งหนี ร้องไห้ หรือยืนค้างด้วยความตกใจ ทั้งหมดนี้คือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจาก “ความกลัว” อารมณ์พื้นฐานที่ดูเรียบง่ายแต่กลับมีพลังมหาศาลต่อจิตใจ และพฤติกรรมของมนุษย์
ถ้าทุกคนจำกันได้ใน Inside Out ตัวละคร “Fear” นั้นถูกออกแบบให้ดูตลกๆออกแนวรั่วๆใช่ไหมครับ…แต่ในโลกความจริง ความกลัวไม่ได้ทำให้เราหัวเราะได้แบบนั้น ตรงกันข้าม…มันทำให้เรากลัวสิ่งที่ยังไม่เกิด ไม่กล้าออกไปเจอโลก และใช้ชีวิตด้วยความระแวดระวังจนเกินพอดี
ศูนย์กลางความกลัวในสมอง
ในสมองของเราทุกคนมีโครงสร้างชื่อว่า Amygdala ซึ่งรับผิดชอบการประมวลผลความกลัว เมื่อได้รับสัญญาณอันตรายร่างกายจะเข้าสู่โหมด Fight-Flight-Freeze โดยอัตโนมัติ ทดให้เกิดอาการหัวใจเต้นแรง มือสั่น สมองส่วนเหตุผลและการวางแผนทำงานช้าลง ทั้งหมดนี้คือกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อให้เรารอดชีวิต

สรุปข่าว
ความกลัวสามารถแพร่กระจายและติดต่อกันได้ได้เหมือนไวรัส
นักจิตวิทยาเรียกว่า Emotional Contagion เมื่อคนหนึ่งแสดงอาการกลัว คนอื่นจะรู้สึกกลัวตามอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในฝูงชน เช่น ที่หลบภัยหรือสถานีรถไฟช่วงแผ่นดินไหว ความตื่นตระหนกสามารถแพร่กระจายภายในเวลาไม่ถึง 60 วินาที
ความกลัวที่เกินพอดีอาจกลายเป็นบาดแผลในใจ
หลังภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว คนจำนวนมากไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะความกลัวฝังแน่น กลายเป็นPTSD หรือภาวะเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งมีอัตราการพบสูงถึง 15–20%
ความกลัวในPTSDนั้น สามารถมาในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น:
-Avoidance: หลีกเลี่ยงสถานที่ บุคคล หรือสถานการณ์ที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์
- Flashbacks: รู้สึกเหมือนเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำจริงๆ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ปลอดภัย
- Nightmares: ฝันร้ายซ้ำๆเกี่ยวกับเหตุการณ์เดิม ส่งผลให้หลับยากและพักผ่อนไม่เพียงพอ
- Hyperarousal: ตื่นตัวตลอดเวลา ตกใจง่าย หงุดหงิด และนอนไม่หลับ
ความกลัวในระดับที่กลายเป็นปัญหาทางจิตเวช
ความกลัวในระดับรุนแรงสามารถเจาะจงไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งและรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กลัวความสูง กลัวที่แคบ หรือกลัวการเข้าสังคม อาการเหล่านี้เรียกว่า Phobia ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล คนที่มี Phobia จะรู้ว่าความกลัวของตน “ไม่สมเหตุสมผล” แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ และมีอัตราการพบถึง 10% ของประชากรในช่วงหนึ่งของชีวิต
แนวทางในการรับมือกับความกลัว
1. รับรู้: ความกลัวเป็นกลไกธรรมชาติ ไม่ใช่ความอ่อนแอ
2. หมั่นสำรวจตัวเอง: หยุดสังเกตความคิดและปฏิกิริยาเมื่อเจอสิ่งกระตุ้น
3. ฝึกการหายใจช้าและลึก การเจริญสติ คือ เทคนิคที่ง่ายที่สุดในการควบคุมระบบประสาทของมนุษย์
4. หลีกเลี่ยงการตัดสินตนเอง: ความกลัวไม่ทำให้เราด้อยค่า
5. ขอความช่วยเหลือ: หากความกลัวเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิต ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
ที่มาข้อมูล : นพ.เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ จิตแพทย์ประจำ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ,คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา
ที่มารูปภาพ : Envato

ชมภู ศรียามาตย์