
นักแสดงสาว ยิปซี คีรติ ในรายการ Prime Cast ป่วยมีภาวะฮอร์โมนร่างกายผิดปกติประจำเดือนขาดหายถึง 1 ปี และเป็น PMDD ขั้นรุนแรง เนื่องจากเข้มงวดกับตัวเองในเรื่องการดูแลหุ่นมากเดินไป
ยิปซีระบุว่า ช่วงที่กินอาหารแปลกๆ ประจำเดือนก็หายไปเลยปีกว่า ในตอนที่เราคลีนจัดๆ เข้มงวดกับอาหารมากๆ ออกกำลังกายแบบถาโถม ทั้งเวทและคาดิโอ ต่อยมวย คือทำทุกอย่าง ตอนนั้นก็คิดแค่ว่า กินน้อย แคลน้อย ออกกำลังกายเยอะเท่ากับผอม ซึ่งผอมไหมก็ไม่รู้แต่รู้ว่าสุขภาพไม่ดี ผิวแห้ง เหมือนกับว่ามันจะเหี่ยวๆลง ซึ่งจริงๆแล้วร่างกายเราต้องมีไขมันบ้าง

สรุปข่าว
แล้วทำยังไงให้ประจำเดือนกลับมา ?
ยิปซีกล่าวว่า กลับมากินอาหารที่บาลานซ์ แคลถึง โภชนาการถึง ใช้เวลาอยู่ประมาณ 3 เดือนก็กลับมา ปกติแล้วเป็นคนที่ประจำเดือนมาค่อนข้างตรง แต่ช่วงที่เข้าอายุ 25 รู้สึกว่าเรามีอาการ PMS (Premenstrual Syndrome อาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน ) ค่อนข้างรุนแรง มากกว่าคนทั่วไป แต่ตอนนั้นยังไม่ได้หนัก มาหนักมากๆจริงๆ ตอนที่อายุ 30 ชีวิตเปลี่ยนเลย มารู้ตัวเองทีหลังว่าไม่ใช่ PMS แล้ว ได้เลื่อนขั้นเป็นแอดวานซ์ชื่อว่า PMDD ( Premenstrual Dysphoric Disorder กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนที่มีอาการรุนแรง ) เราป่วยทางด้านฮอร์โมน์ด้วยส่วนหนึ่ง และทางด้านจิตใจด้วยอีกส่วนหนึ่ง อาการแย่ลงแล้วรู้สึกว่ารุนแรงเพราะทุกๆเดือนที่จะมีประจำเดือน เราจะมีอาการรู้สึกไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้วทุกครั้ง
PMDD คืออะไร
PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) คือ กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนชนิดรุนแรง เป็นอาการที่รุนแรงของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ที่จะมีความผิดปกติทางร่างกายจิตใจหรืออารมณ์อย่างรุนแรงโดยสัมพันธ์กับช่วงก่อนการมีประจำเดือน บางคนอารมณ์อ่อนไหว แปรปรวนง่าย ซึมเศร้าอย่างมาก สิ้นหวัง ไม่อยากมีชีวิต วิตกกังวลอย่างรุนแรง ร้องไห้บ่อย โมโหร้าย อารมณ์รุนแรง ซึ่งภาวะ PMDD พบได้ค่อนข้างน้อยเพียง 2-10% ของผู้หญิงที่มีประจำเดือน
สาเหตุของ PMDD เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในช่วงระหว่างการตกไข่ในแต่ละรอบเดือน ส่วนปัจจัยอื่น ที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง ปัญหาจากความเครียด โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า กรรมพันธุ์ และเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต
PMDD มีอาการอย่างไร
PMDD ทำให้เกิดอาการทางร่างกายคล้ายกับอาการ PMS คือท้องอืด ปวดเกร็งท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดหลัง คัดตึงเต้านม อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหารหรือรู้สึกหิวมากกว่าปกติ แต่อาการที่เด่นชัดของ PMDD คือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะจิตใจและอารมณ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรมได้ ดังนี้
- อารมณ์แปรปรวนรุนแรง
- ร้องไห้ง่าย รู้สึกสิ้นหวัง และท้อแท้
- วิตกกังวล หงุดหงิด โมโหร้าย ฉุนเฉียว
- เบื่อหน่าย ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง เฉยชาต่อการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ
- ไม่มีสมาธิ
- มีความคิดฆ่าตัวตาย
โดยทั่วไป ผู้ที่เป็น PMDD มักมีอาการช่วง 6 วันก่อนมีประจำเดือน และอาการจะรุนแรงที่สุดประมาณ 2 วันก่อนมีประจำเดือน นอกจากนี้ ระยะเวลาของการเกิดอาการ PMDD อาจแตกต่างกันไป บางคนอาจมีอาการเพียงไม่กี่วันและดีขึ้น แต่บางคนอาจมีอาการยาวนานได้ถึง 2 สัปดาห์
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของ PMDD
สาเหตุของ PMDD ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าผู้ที่มีอาการ PMDD มักมีอาการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล จึงสันนิษฐานว่า การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงที่กระตุ้นให้เกิดการตกไข่และประจำเดือนอาจส่งผลให้สภาวะอารมณ์แปรปรวนมากกว่าปกติ จึงทำให้อาการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลรุนแรงขึ้น
PMDD รักษาอย่างไร
หากอาการของ PMDD รุนแรงและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา โดยแพทย์จะสอบถามอาการ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยอาการและตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคซึมเศร้า และโรคแพนิค
การรักษา PMDD ให้ได้ผล อาจใช้การรักษาหลายวิธีประกอบกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของแต่ละคน
ที่มาข้อมูล : รายการ Prime Cast / bangkokmentalhealthhospital / pobpad.com
ที่มารูปภาพ : รายการ Prime Cast

พรรณพิไล ปุกหุต