
เพจ Tensia ซึ่งให้ความรู้สุขภาพในเฟสบุ๊คโพสต์อธิบายความจำเป็นของการมีไขมันในช่องท้อง โดยระบุว่า
มีคนถามว่า ไขมันช่องท้อง (Visceral adipose tissue: VAT) มีไว้ทำไมคะ? ทำไมดูเป็นตัวร้ายตลอดเลย อ้วนทีก็ก่อโรคตลอด
แต่จริงๆ แล้ว น้องไขมันช่องท้องเนี่ย มีประโยชน์เยอะมากเลย ถ้าไม่อ้วนเกินไปจนเครียดแล้ววีนแตกหลั่งสารก่ออักเสบไปก่อน

สรุปข่าว
ก่อนอื่นไขมันช่องท้องอยู่ตรงไหนกันแน่?
จริงๆ คำว่า “ไขมันช่องท้อง”เป็นคำเรียกรวม แต่ตัวหลักเลยคือ เนื้อเยื่อไขมันตามเยื่อแขวนลำไส้ (Mesentery) โดยเฉพาะที่กระจุกอยู่ใน greater omentum ซึ่งใหญ่มาก ใหญ่จนบังลำไส้หมดเลย
พอเราดูรูปอนาโตมีที่เห็นลำไส้ชัดๆ นั่นคือภาพที่ เขาเอา omentum ออกไปแล้ว เพราะถ้าไม่เอาออกแบบภาพขวา จะไม่เห็นอะไรเลย น้องใหญ่จริงๆ
ที่มาภาพ: https://www.britannica.com/
พอรู้จักตำแหน่งน้องกัน มาสรุปหน้าที่กันจะได้รู้ว่าจริงๆ มีประโยชน์มากๆ
1. จุดประจำการของภูมิคุ้มกัน
แม้ว่าผนังลำไส้เองจะมีศูนย์บัญชาการน้ำเหลือง เช่น Peyer’ patach, lymphoid follicles แต่แหล่งกบดานเม็ดเลือดขาวขนาดใหญ่ กระจายอยู่ในเนื้อเยื่อไขมันพวกนี้นี่แหละค่ะ
ดังนั้นบรรดาเม็ดเลือดขาวจะแบ่งตัวมาเติมให้กับผนังลำไส้/ช่องท้องตลอดเวลา
2. จุดหลั่งฮอร์โมนดูแลลำไส้
ตอนปกติ: หลั่งฮอร์โมนต้านอักเสบ เช่น adiponectin, IL-10
ตอนติดเชื้อ: เปลี่ยนโหมด! หลั่ง resistin, IL-6 เพื่อกระตุ้นเม็ดเลือดขาว
เหมือนเป็นน้องที่ช่วยดูแลลำไส้ทั้งตอนพักผ่อนและตอนสู้รบเลย เรียกได้ว่า support ทางเดินอาหารทั้งตอนพักและตอนสู้
แต่หน้าที่ข้อนี้นี่แหละ ที่ยับในคนอ้วน เพราะพออ้วนแล้ว เซลล์ไขมันที่เป่งมันเบียดกันเอง จนเครียดเองแล้วก็หลั่งสารก่ออักเสบรัวๆ
3. สนับสนุนการสร้างหลอดเลือดและการฟื้นฟู
เวลามีปัญหาใดใดเกิดในทางเดินอาหาร มันสามารถคอยหลั่งสารสนับสนุนการฮีลได้ กระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ได้
กลไกนี้จะชัดเจนเวลามีอวัยวะภายในทะลุ บางทีเยื่อแขวนลำไส้ที่มีเนื้อเยื่อไขมันนี้จะสร้างกาว fibrin แล้วดูดตัวเองไปแปะติดอุดไว้เลย (omental walling off)
4. คอยระบายน้ำและเศษเซลล์ต่างๆ ออกจากช่องท้อง
5. เป็นเบาะกันกระแทก นุ่มๆ กันอวัยวะเบียดกันเอง
ช่วยดูดซับแรงต่างๆ และป้องกันลำไส้ไม่ให้ไถลไปมา เหมือนหมอนข้างประจำช่องท้อง
สรุปคือ ไขมันช่องท้องมีประโยชน์เยอะมาก แค่อย่าให้น้องเครียด หรือพูดง่ายๆ คือ อย่าให้อ้วนเกินไป ไม่งั้นกลไกข้อ 2 จะพัง แล้วกลายเป็นแหล่งสร้างสารอักเสบแทน
ที่มาข้อมูล : Facebook: Tensia
ที่มารูปภาพ : canva

จุฑาลักษณ์ แก้วปัญญา