เตือน บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน เพิ่มความเสี่ยงถึง 2 เท่าเกิดภาวะอ้วนลงพุง-ความดันสูง

ในปัจจุบันพบว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ในความเป็นจริง บุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดเต็มไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 

นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หนึ่งในประเภทของบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมคือ บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Products: HTPs) ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ซิกาแรต เพราะไม่มีการเผาไหม้ อย่างไรก็ตาม แม้บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน จะใช้ความร้อนแทนการเผาไหม้ แต่ละอองไอที่เกิดขึ้นยังคงมีสารพิษหลายชนิด อีกทั้งยังพบสารเคมีบางชนิดที่ไม่พบในควันบุหรี่ซิกาแรต ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ 

เตือน บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน เพิ่มความเสี่ยงถึง 2 เท่าเกิดภาวะอ้วนลงพุง-ความดันสูง

สรุปข่าว

กรมควบคุมโรค เตือน บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่าหลงเชื่อคำลวงว่าเป็นทางเลือกเพื่อลดอันตราย

ในปัจจุบัน มีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การศึกษาของสถาบันชีวการแพทย์และการแพทย์ สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา พบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน เพิ่มความเสี่ยงถึง 2 เท่า ต่อการเกิดภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น 

ดังนั้น ผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน จึงมีความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้มาอย่างต่อเนื่อง นานเกิน 3 ปี จึงเป็นหลักฐานชัดเจนว่า บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนไม่ได้ปลอดภัยกว่าบุหรี่ซิกาแรต

นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและรักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคมีนโยบายสำคัญในการลดการป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุข 

ดังนั้น การคงมาตรการห้ามนำเข้า และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด ร่วมกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมในการป้องกันเด็ก เยาวชนและผู้ใหญ่ตอนต้นที่ไม่สูบบุหรี่ จากการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อไม่ให้เข้าสู่วงจรการเสพติดนิโคติน และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตามนโยบายของรัฐบาล 

สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนเพื่อรับคำปรึกษาเลิกบุหรี่ 1600

ที่มาข้อมูล : กรมควบคุมโรค

ที่มารูปภาพ : Getty Images

Thailand Web Stat