
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ไมโครพลาสติก(MPs) เป็นผลมาจากการใช้พลาสติก จากผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก หรือมีส่วนประกอบของพลาสติก ซึ่งได้แฝงตัวอยู่รอบตัว และพบได้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว นั้น
จากรายงานวิจัยของไทย พบว่า น้ำนมแม่จะตรวจพบไมโครพลาสติกจากห้องทดลอง แต่ยังน้อยกว่าการดื่มนมจากขวด ที่ผ่านความร้อนสูงจากการทำความสะอาดขวดนมและวิธีการเตรียมนม ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ทำให้แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนม มีความกังวลว่าไมโครพลาสติกอาจส่งผลต่อการพัฒนาของระบบภูมิคุ้มกันและระบบต่อมไร้ท่อของทารก แต่ขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวและปริมาณที่ได้รับและก่อให้เกิดอันตรายเมื่อเข้าสู่ร่างกาย
ไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการรับประทาน การสัมผัสเพราะมันสามารถปนอยู่ในอาหาร น้ำดื่ม เครื่องสำอางค์ การใช้พลาสติกที่ทำให้เกิดไมโครพลาสติก จะละลายอยู่ในน้ำหรืออาจจะปนอยู่กับบรรจุภัณฑ์สำหรับเลี้ยงลูกที่ไม่ผ่านมาตรฐาน หรือมีคุณภาพดีพอ รวมถึงมลพิษทางอากาศจากการสูดดมเข้าไป หรือปนผ่านเครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ แม่ที่อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แม่ที่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ปศุสัตว์หนาแน่น ซึ่งอาจจะมีไมโครพลาสติกปะปนได้สูง หากไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายแม่แล้ว อาจมีโอกาสที่จะเข้าสู่กระแสเลือด หรือเนื้อเยื่อต่างๆ แต่ในปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลชัดเจนว่าไมโครพลาสติกพบในนมแม่ได้อย่างไร หรืออาจเกิดจากการที่ไมโครพลาสติกปนอยู่ในภาชนะเก็บน้ำนมที่ให้เด็กกิน จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ โครพลาสติกสามารถขับออกจากร่างกายได้ผ่านปัสสาวะ และเหงื่อได้

สรุปข่าว
วิธีลดไมโครพลาสติกหรับคุณแม่ให้นมบุตร
ขณะที่ นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัยมีข้อแนะนำการลดไมโครพลาสติก MPs เข้าสู่ร่างกายสำหรับคุณแม่ให้นมบุตร ได้แก่
1) ล้างมือบ่อยๆ
2) ทำความสะอาดเสื้อชั้นใน
3) อยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทสะดวกไม่สูดดมสัมผัสมลพิษสารเคมีทางอากาศ
4) ลดการใช้เครื่องสำอางประเภทสเปรย์
5) รับประทานอาหารทะเลด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเลที่มีการปนเปื้อน
6) เฝ้าระวังการติดเชื้อที่เต้านม เต้านมคัดตึงหรือ และท่อน้ำนมอุดตัน แม้ว่านมแม่จะมีความเสี่ยงจากไมโครพลาสติก แต่การให้นมแม่อย่างเดียวต่อเนื่อง 6 เดือน และการดูดนมจากเต้านมโดยตรงยังคงมีประโยชน์สูงสุด ช่วยลดการเกิดโรคเรื้อรัง NCDs ทั้งแม่และลูกในอนาคตได้ด้วย
นอกจากนี้ การลดการใช้พลาสติก การเลือกใช้ขวดนมที่ผ่านมาตรฐาน และเลือกวิธีการเตรียมนมที่ปลอดภัยสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้
อ่านข่าว : ไมโครพลาสติก คืออะไร? งานวิจัยล่าสุดพบ "ในนมแม่" ครั้งแรกในไทย