ไข้หวัดใหญ่น่าห่วงยอดป่วยพุ่ง แนะวิธีป้องกันการแพร่กระจายของโรค

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะมีแนวโน้มดีขึ้นในบางพื้นที่ แต่ประชาชนยังคงต้องดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ ที่ขณะนี้พบผู้ป่วยกว่า 1 แสนคนโดยเสียชีวิตแล้ว 9 ราย ซึ่งกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หญิงตั้งครรภ์ ควรดูแลสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษ เพื่อลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย และการเสียชีวิต 

ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสในฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย ที่ฟุ้งกระจายในอากาศจากการไอ จามรดกัน หรือติดต่อทางอ้อมโดยเชื้อไวรัสติดมากับมือ ผ้าเช็ดหน้า หรือแก้วน้ำที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย ผู้ที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ควรพักผ่อนรักษาที่บ้านจนกว่าจะหาย และควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องใกล้ชิดกับผู้อื่น ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งเวลาไอจาม หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

หากอาการ ไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สำหรับผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคจากการไอหรือจาม


ไข้หวัดใหญ่น่าห่วงยอดป่วยพุ่ง แนะวิธีป้องกันการแพร่กระจายของโรค

สรุปข่าว

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วง ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หญิงตั้งครรภ์ หลังจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น พร้อมแนะสวมหน้ากากอนามัย ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ป้องกันการแพร่กระจายกลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่

การป้องกันการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่

ทางด้าน นางสาวนัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับการป้องกันการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งวิธีการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกวิธี ควรปฏิบัติดังนี้ 

1) ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนสวมหน้ากาก และหลังถอดหน้ากาก 

2) เลือกขนาดของหน้ากากอนามัยให้เหมาะสม และปรับสายให้กระชับกับใบหน้า 

3) สวมหน้ากาก ให้คลุมจมูกและใต้คาง

4) เวลาต้องการพูด หรือดื่ม / รับประทานอาหาร ไม่ควรดึงหน้ากากมาไว้ที่คางแต่ให้ถอดเก็บไว้ในถุงหรือซองพกพาที่สะอาด หากหน้ากากเปียกชื้นหรือชำรุด ให้รีบเปลี่ยนหน้ากากทันที สำหรับการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ทิ้งโดยจับสายคล้องหูและถอดออกโดยไม่สัมผัสหน้ากาก ใส่ถุงปิดให้สนิทและทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิด

นายแพทย์อัครวัฒน์ เพียวพงภควัต ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กล่าวว่า ประชาชนควรดูแลสุขอนามัยของตนเองเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค โดยให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ในกรณีข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนทุกครั้ง ใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร เมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะอื่นๆ ร่วมกัน 


การล้างมืออย่างถูกวิธีให้ปฏิบัติตาม 7 ขั้นตอน

ที่สำคัญล้างมือก่อนและหลังกินอาหาร รวมถึงหลังการใช้ส้วมด้วย ซึ่งการล้างมืออย่างถูกวิธีให้ปฏิบัติตาม 7 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้ 

1) ฝ่ามือถูกัน 

2) ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว 

3) ฝ่ามือถูฝ่ามือและถูกซอกนิ้ว 

4) หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 

5) ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 

6) ปลายนิ้วมือถูฝ่ามือ

7) ถูรอบข้อมือโดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรค 

ประชาชนควรรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที กินอาหารถูกหลักโภชนาการ มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้ง หมั่นสังเกตตนเอง หากมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ เมื่อมีอาการควรนอนพักผ่อนให้มาก ดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมาก ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ภายใน 3 - 7 วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้น หรือมีไข้สูงนานเกิน 2 วัน ควรไปพบแพทย์ 

นอกจากนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ยังเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ มักมีโรคแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงถึงชีวิตได้

ที่มาข้อมูล : กรมอนามัย

ที่มารูปภาพ : AFP