
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเซลล์ รีพอร์ตส (Cell Reports) เมื่อไม่นานมานี้ เปิดเผยว่าทีมนักวิจัยของจีนค้นพบว่าลักษณะเฉพาะของกระบวนการดีเอ็นเอเมทิเลชัน (DNA methylation) ในผู้ชายที่มีอายุยืนยาว ทำให้พวกเขามีสุขภาพดีกว่าผู้หญิงในกลุ่มอายุเท่ากัน
ดีเอ็นเอเมทิเลชัน เป็นกลไกการเปลี่ยนแปลงเหนือพันธุกรรม (epigenetic) ที่เกี่ยวข้องกับการเติมกลุ่มเมทิล (methyl) ลงในโมเลกุลดีเอ็นเอ ซึ่งกระบวนการทางชีวเคมีนี้สามารถส่งผลต่อการแสดงออกของยีนโดยไม่เปลี่ยนลำดับดีเอ็นเอ
เซียวฟู่ฮุย นักวิจัยร่วมจากสถาบันสัตววิทยาคุนหมิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เปิดเผยว่ากระบวนการดีเอ็นเอเมทิเลชันเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการแก่ชราของมนุษย์และอุบัติการณ์ของโรคที่เกี่ยวข้องกับอายุ

สรุปข่าว
ทีมนักวิจัยจากสถาบันฯ จัดลำดับจีโนมทั้งหมดโดยใช้สารไบซัลไฟต์ (bisulfite) ในกลุ่มผู้ชายอายุยืนยาว ผู้หญิงอายุยืนยาว ผู้ชายอายุน้อย และผู้หญิงอายุน้อย เพื่อสำรวจลักษณะเฉพาะของกระบวนการดีเอ็นเอเมทิเลชันในผู้ชายอายุยืนยาว
ทีมนักวิจัยค้นพบว่าจีโนมของผู้ชายที่มีอายุยืนยาวมีหน่วยดีเอ็นเอเมทิเลชันเฉพาะ ซึ่งสามารถควบคุมการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคที่มาจากอายุ จึงสามารถยับยั้งการเกิดภาวะต่างๆ อาทิ เนื้องอก อีกทั้งส่งผลให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงและสมรรถภาพทางกายดีขึ้นในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุยืนยาว
ที่มาข้อมูล : สำนักข่าวซินหัว
ที่มารูปภาพ : envato