

สรุปข่าว
คนชอบกินหมูกระทะต้องดู! ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งเท่านั้น แต่ถ้าย่างไม่สุก หรือใช้ตะเกียบที่ปนปนเชื้อโรคคีบหมูสุกเข้าปาก อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้หูดับได้ ซึ่งจะมีสาเหตุจากอะไร และมีอาการเบื้องต้นเป็นแบบไหน เราจะพาทุกคนไปดูพร้อมๆ กันในบทความนี้
โรคไข้หูดับ คืออะไร?
โรคไข้หูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในเนื้อสุกร หรือเนื้อหมู แบคทีเรียชนิดนี้สามารถติดต่อจากหมูสู่คนได้ผ่าน 2 ทางหลักๆ ดังนี้
• การกินเนื้อหมูดิบ หรือปรุงไม่สุก เช่น ลาบ หลู้ หมูปิ้ง หมูกระทะ การใช้ตะเกียบแบบไม่แยกหมุสุกและหมุดิบ
• การสัมผัสเนื้อหมูที่ปนเปื้อน เช่น มือมีแผลบนผิวหนัง หรือมือสัมผัสเชื้อแล้วจับบริเวณตา อาจติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อบุตาได้
อาการของโรคไข้หูดับ
สำหรับอาการที่เห็นได้ชัดของโรคไข้หูดับ จะแสดงอาการดังนี้
• ไข้สูง หนาวสั่น
• ปวดเมื่อยตามตัว
• ปวดศีรษะรุนแรง
• อาเจียน
• คอแข็ง
• หูดับสูญเสียการได้ยิน
ซึ่งอาการของโรคไข้หูดับนี้สามารถรุนแรงไปจนถึงขั้นมีอาการช็อก และอาจเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ ทำอย่างไรได้บ้าง?
• ปรุงเนื้อหมูให้สุก โดยใช้ความร้อนอย่างทั่วถึงก่อนรับประทาน
• หลีกเลี่ยงการกินเนื้อหมูดิบ หรือเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ
• ล้างมือให้สะอาด ทุกครั้งหลังสัมผัสเนื้อหมู
• สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ รองเท้าบู๊ท เมื่อต้องสัมผัสเนื้อหมู
• แยกเขียง ที่ใช้สำหรับเนื้อหมู ออกจากเขียงที่ใช้สำหรับอาหารอื่นๆ
• เก็บรักษาเนื้อหมู อย่างถูกต้อง
• หากมีบาดแผล ควรปิดแผลให้มิดชิดโดยเฉพาะผู้ที่ชอบทำอาหาร
กลุ่มเสี่ยง
• ผู้ที่สัมผัสเนื้อหมูดิบ หรือเนื้อหมูที่ปนเปื้อนเป็นประจำ เช่น พ่อค้าแม่ค้าเนื้อหมู พนักงานโรงฆ่าสัตว์ ชาวนา
• ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
โรคไข้หูดับเป็นโรคที่รุนแรง และสามารถเสียชีวิตได้ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการกินเนื้อหมูดิบ และปรุงเนื้อหมูให้สุก รวมถึงการไม่สัมผัสเนื้อหมูเมื่อเกิดบาดแผล
ที่มาข้อมูล : กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ที่มาภาพ : freepik/jcomp
ที่มาข้อมูล : -