

สรุปข่าว
ผลวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดตอกย้ำโทษของการบริโภคสารให้ความหวานเทียม โดยระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มแบบไดเอท ที่จะใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นส่วนผสม ในปริมาณ 2 ลิตรต่อสัปดาห์ขึ้นไป เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ มากถึง 20 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ไม่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เลย
สำหรับภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดปกติ หรือ A-fib คือ ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องบน ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น บางครั้ง เรียกว่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคไต
ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลก เพิ่งประกาศว่า "แอสปาร์แตม" เป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในร่างกายมนุษย์ ซึ่งแอสปาร์แตม เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลตัวเดียวกับที่เจอเป็นส่วนผสมของน้ำอัดลม
ย้อนกลับมาที่งานวิจัยเกริ่นไปในตอนแรก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความในเครื่องดื่มไม่มีแคลอรีและน้ำตาล กับ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เมื่อเทียบกับ เครื่องดื่มมีน้ำตาลแบบทั่วไป ซึ่งผลจากการติดตามข้อมูลสุขภาพของชาวยุโรปในปี 2017 พบว่า มีกว่า 22 เปอร์เซนต์เสี่ยงจะเกิดโรคนี้
ข้อมูลจาก Heart Rhythm Society ระบุว่า ผู้คนเกือบ 40 ล้านคนจาก 90 ประเทศทั่วโลกมีภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่หัวใจห้องบน ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยที่สหรัฐฯ ประเทศเดียว คนที่มีความเสี่ยง มีอยู่ถึง 6 ล้านคน
สำหรับอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ได้แก่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจลำบาก และเหนื่อยล้า แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คนที่ไม่มีอาการเหล่านี้มาก่อนก็สามารถเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้เหมือนกัน กลายเป็นฆาตกรเงียบที่คร่าชีวิตของผู้คนอย่างไม่รู้ตัว
ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ บอกว่า อายุเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุด ยิ่งอายุมาก ความเสี่ยงยิ่งสูงกว่าคนอายุน้อย ดังนั้น การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ สามารถทำให้ตรวจพบความเสี่ยงและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ได้ รวมทั้งใส่ใจดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน คอเลสเตอรอลสูง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ในเบื้องต้นได้เช่นเดียวกัน
ที่มาข้อมูล : -