

สรุปข่าว
นายปองกูล สืบซึ้ง (ป๊อบ-ปองกูล) นักร้อง ร่วมด้วย นายนที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดด้าเบลส) พิธีกร ศิลปิน นักบำบัด ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อการส่งเสริมสุขภาพใจ ใส่ใจสุขภาพจิต เพื่อการป้องกันอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาที่สะท้อนถึงภาวะซึมเศร้าซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางจิตใจแต่เป็นโรคที่รักษาหายได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต โดยกรุงเทพประกันภัยและกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราว โดย ป๊อบ-ปองกูล ศิลปินอารมณ์ดี (6 มีนาคม 67)
ทั้งนี้กรุงเทพประกันภัยร่วมกับกรมสุขภาพจิตรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้คนไทยห่างไกลภาวะซึมเศร้า หวังสังคมช่วยกันดูแลและป้องกันอย่างยั่งยืน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะซึมเศร้าของไทยว่า จากข้อมูลล่าสุดบนระบบรายงาน HDC ของกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 พบว่าผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนรายหรือคิดเป็นร้อยละ 12.09 รวมถึงประมาณการณ์ว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ถึง 1.5 ล้านคน และอาจมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เข้ารับการบำบัดดูแล
ด้าน ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรุงเทพประกันภัยและกรมสุขภาพจิตได้เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าที่ถือว่าเป็นอาการของโรคที่สามารถรักษาได้ เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าภาวะซึมเศร้าเป็นความอ่อนแอ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่จริงๆ แล้วภาวะซึมเศร้าเป็นอาการที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ต่างจากโรคทางกายอื่นๆ ภาวะซึมเศร้าเป็นอาการของโรคที่ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอหรือไม่ใช่แค่ความรู้สึก และอยากให้เขาเหล่านั้นได้เข้าไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีแขกรับเชิญมาร่วมเสวนาในหัวข้อ การส่งเสริมสุขภาพใจ ใส่ใจสุขภาพจิต เพื่อการป้องกันอย่างยั่งยืน โดยมี ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่มาให้ความรู้ในเรื่องการดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า กล่าวว่า “สถานการณ์ของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและกำลังเป็นปัญหาทางสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขและป้องกันอย่างเร่งด่วนนั้น มีทางออกแรกที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้และไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการให้ผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ได้มีโอกาสที่จะเล่าระบายความในใจ ที่สำคัญต้องสร้างบรรยากาศของการเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการบอกเล่า เพียงเท่านั้นก็สามารถคลี่คลายได้อย่างมาก ส่วนการให้คำแนะนำว่า สู้ๆ สามารถทำได้ แต่ต้องเข้าใจว่าผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ากำลังสู้กับอะไร ฟังก่อนว่ากำลังทุกข์ใจเรื่องอะไร มีคนบอกว่า อย่าพูดว่า สู้ๆ แต่ที่จริงแล้วคำว่า สู้ๆ สามารถพูดได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเขากำลังสู้อยู่กับอะไร ถ้าเราฟังเขาจนเข้าใจแล้วรู้ว่า เขากำลังสู้อยู่กับปัญหาอะไร ปัญหาแบบนี้ในมุมมองของเขาเป็นอย่างไร ความเข้าใจและรับรู้ถึงสถานการณ์ก่อนจึงสามารถให้กำลังใจได้อย่างเหมาะสม หรือว่าบางทีการนั่งอยู่เฉยๆ เพื่อรับฟังก็ถือว่าเป็นการให้กำลังใจได้อีกช่องทางหนึ่งหรือที่เรียกว่า แค่เล่าก็เบาแล้ว เพราะคนเราไม่ได้โชคดีที่จะมีคนรับฟัง แต่ถ้าคุณสามารถเป็นคนคนหนึ่งที่รับฟังใครสักคนได้นั่นถือเป็นการช่วยเหลือที่ดีมากที่สุดแบบหนึ่งทีเดียว”
ที่มาข้อมูล : -