นอนไม่หลับ ร้อนง่าย เสี่ยงสมองฝ่อและอัลไซเมอร์ จริงหรือ?

นอนไม่หลับ ร้อนง่าย เสี่ยงสมองฝ่อและอัลไซเมอร์ จริงหรือ?

สรุปข่าว

นอนไม่หลับ ร้อนง่าย เสี่ยงสมองฝ่อ และอัลไซเมอร์ จริงหรือ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงแล้ว


กรณีการส่งต่อคำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพเรื่อง อาการนอนไม่หลับ ขี้ร้อนเกิน เสี่ยงสมองฝ่อ และอัลไซเมอร์ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่า ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่บ่งชี้ว่า อาการนอนไม่หลับ ขี้ร้อน กระวนกระวายใจจะนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ แต่อาการดังกล่าวอาจเป็นอาการแสดงของโรคบางชนิดได้ จึงควรได้รับการประเมินจากแพทย์ ทั้งนี้สุขลักษณะการนอนที่ดี มีผลดีกับร่างกาย ความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) เพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด และอาจทำให้ง่วงนอนในช่วงกลางวัน ไม่แจ่มใส

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันประสาทวิทยา สามารถติดตามได้ที่ www.pni.go.th หรือโทร. 02-306-9899

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่บ่งชี้ว่าอาการนอนไม่หลับ ขี้ร้อนง่าย เป็นอาการที่นำไปสู่สมองฝ่อ หรืออัลไซเมอร์



การนอนหลับ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม


นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า ในผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เกิดภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง โรคซึมเศร้า รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยมากขึ้นกว่าปกติ อาการนอนไม่หลับสามารถพบได้ในทุกช่วงวัย โดยพบมากในผู้หญิง

และผู้สูงอายุ


สาเหตุของการนอนไม่หลับ  สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้ 


ปัจจัยทางกาย 

1.เกิดจากการผิดปกติของโรคทางกาย เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหอบหืด ความผิดปกติของฮอร์โมน ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน โรคปอดเรื้อรัง โรดกรดไหลย้อน 

2.เกิดจากความผิดปกติของโรคจากการหลับ เช่น นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน พฤติกรรมและการขยับผิดปกติขณะหลับ โรคแปรปรวนของนาฬิกาชีวิต ปัจจัยทางจิตใจ 

1.)เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันส่งผลกระทบต่อจิตใจ อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เสียใจ หรือไม่สบาย 

2.)เกิดจากโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเวช ยาหรือสารที่มีผลต่อการนอนหลับ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยาแก้แพ้ ชา กาแฟ 


ปัจจัยสภาพแวดล้อม

1.สภาพห้องนอนมีแสงสว่างมากเกินไป มีเสียงดังรบกวน อุณหภูมิร้อนเกินไป 

2.รู้สึกแปลกสถานที่ เมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่นอน 3.การนอนไม่เป็นเวลา เช่น การทำงานกะดึก ทำกิจกรรมตื่นเต้นผาดโผนก่อนนอน


นอนไม่หลับ ร้อนง่าย เสี่ยงสมองฝ่อและอัลไซเมอร์ จริงหรือ?


ที่มา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม / กรมการแพทย์

ภาพจาก AFP

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :