
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลกำลังเรียกร้องให้มีการปรับระดับภัยคุกคามการสูญพันธุ์ของ เพนกวินจักรพรรดิ (Emperor Penguin) อย่างเร่งด่วน หลังจากการประเมินแนวทางใหม่เกี่ยวกับสถานะการอนุรักษ์ของสายพันธุ์และสภาพแวดล้อมในแอนตาร์กติกาสะท้อนให้เห็นว่า เพนกวินชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ภายในช่วงชีวิตเดียวของมนุษย์
ทีมนักวิจัยจาก Woods Hole Oceanographic Institution (WHOI) ได้คำนวณข้อมูลเกี่ยวกับวัฏจักรชีวิตและความพึ่งพาสภาพแวดล้อมของเพนกวินจักรพรรดิ และเสนอให้ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ปรับระดับภัยคุกคามของสัตว์ชนิดนี้จากระดับ ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) เป็นระดับ เสี่ยงสูญพันธุ์ (Vulnerable) หรืออาจถึงขั้นใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)
นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อเน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของเพนกวินจักรพรรดิ

สรุปข่าว
การศึกษาล่าสุด ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Biological Conservation ภายใต้หัวข้อ Living with Uncertainty: Using multi-model large ensembles to assess emperor penguin extinction risk for conservation policy ได้ใช้แนวทางที่เรียกว่า Multi-Model Large Ensemble (MMLE) ซึ่งเป็นการจำลองระบบโลกหลายรูปแบบเพื่อช่วยคำนวณผลกระทบที่เป็นไปได้ของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
ทีมนักวิจัยใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง ได้แก่
- ข้อมูลพฤติกรรมของเพนกวินจักรพรรดิจากการสังเกตโดยตรง
- สถิติระยะยาวเกี่ยวกับจำนวนลูกนกและเพนกวินตัวเต็มวัย
- ข้อมูลดาวเทียมกว่า 10 ปีที่ติดตามขนาดของ 50 อาณานิคม
นอกจากนี้ ยังนำข้อมูลทางพันธุกรรมและประชากรศาสตร์ของอาณานิคมมาใช้ เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลงของเพนกวินจักรพรรดิ
การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาอาจส่งผลกระทบต่อมนุษย์
ดร. สเตฟานี เจนูฟริเยร์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสและนักนิเวศวิทยานกทะเลจาก WHOI กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาวิธีประเมินความไม่แน่นอนในกระบวนการอนุรักษ์ว่า
"การเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยกำหนดนโยบายการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น"
ศาสตราจารย์ ฟิล ทราแทน อดีตหัวหน้าฝ่ายชีววิทยาการอนุรักษ์ของ British Antarctic Survey และหนึ่งในผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า
"เพนกวินจักรพรรดิเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของระบบนิเวศในแอนตาร์กติกา และช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของระบบโลก ดังนั้น การใช้แบบจำลองที่แม่นยำเพื่อประเมินความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจึงมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้และสายพันธุ์อื่น ๆ" เขายังเน้นว่า การพัฒนาแบบจำลองที่ดีขึ้นสำหรับคาดการณ์อนาคตของโลก ไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์เอง
IUCN มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์การอนุรักษ์เพนกวินจักรพรรดิ โดยอาศัยการประเมินทางวิทยาศาสตร์เพื่อลงทะเบียนสายพันธุ์ใน บัญชีแดง (Red List) ซึ่งมีผลต่อการกำหนดนโยบายภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น Antarctic Treaty Consultative Meeting (ATCM) ซึ่งเป็นเวทีสำคัญสำหรับการตัดสินใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ในทวีปแอนตาร์กติกา
ผลการศึกษานี้ยังสนับสนุนการจัดตั้ง เขตอนุรักษ์ทางทะเล (Marine Protected Areas - MPAs) ในพื้นที่สำคัญ เช่น ทะเลรอสส์ (Ross Sea) และทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) ซึ่งอาจเป็นแหล่งหลบภัยสำคัญของเพนกวินจักรพรรดิจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นักอนุรักษ์หวังว่าการดำเนินการอย่างจริงจังจะเกิดขึ้น ก่อนที่เพนกวินจักรพรรดิจะเผชิญกับชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากภาวะโลกร้อนและการสูญเสียถิ่นอาศัยในแอนตาร์กติกา
ที่มาข้อมูล : oceanographicmagazine.com
ที่มารูปภาพ : Reuters

สุนิดา สวัสดิพรพัลลภ