
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรวงทอง) ในฐานะผู้แทนประเทศไทย พร้อมด้วย ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. นายเลิศพันธ์ สุขยิรัญ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการน้ำ สทนช. และผู้แทนกองการต่างประเทศ สทนช. เดินทางเข้าร่วมการประชุม The 3rd Mekong-Korea International Water Forum ณ เมืองแทจอน สาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้หัวข้อ “Climate Resilience through Digital Water Management in the Mekong Region” เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
โดย เลขาธิการ สทนช. ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ได้เข้าร่วมการเสวนาเจ้าหน้าที่ระดับสูง (High – Level Dialogue) โดยกล่าวเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคในการบริหารจัดการน้ำและเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยเผชิญกับปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาด้านคุณภาพน้ำ ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เป็นผลจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วและความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ประเทศไทยดำเนินกลยุทธ์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านระบบเตือนภัยล่วงหน้า การปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลและการเร่งพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ยั่งยืน และการส่งเสริมการสื่อสารที่ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชน นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องและทันท่วงที เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดการบูรณาการเพื่อความมั่นคงของน้ำในระยะยาว พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการพัฒนาแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืนเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต

สรุปข่าว
นอกจากนี้ ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. ได้เข้าร่วมการเสวนาช่วงพิเศษร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนา (the special session: international development partners) ซึ่งได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการและกิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ขั้นตอนและการสนับสนุนด้านเงินทุน และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับโครงการด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อนและการบริหารจัดการน้ำของไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในประเทศและการจัดการน้ำข้ามพรมแดน รวมถึง นายเลิศพันธ์ สุขยิรัญ ผู้อำนวยการบริหารจัดการน้ำ สทนช. ได้เข้าร่วมการอภิปรายแบบโต๊ะกลม (The Business Roundtable) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางนโยบายและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านน้ำ รวมถึงเสริมสร้างโอกาสสำหรับโครงการความร่วมมือด้านน้ำระหว่างสองประเทศ โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีด้านน้ำของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานการพัฒนาความร่วมมือความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในสาขาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป
ที่มาข้อมูล : ทีมข่าวสังคม TNN ช่อง 16
ที่มารูปภาพ : ยุทธ์หลัก 4

กองบรรณาธิการ TNN