

สรุปข่าว
การดำเนินนโยบาย “การสาธารณสุขถ้วนหน้า” กับประชากรกว่า 1,400 ล้านคนที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “อมโรค” และโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับรัฐบาลจีน จึงไม่น่าแปลกใจว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน จีนก็ใส่ใจกับการแพทย์ที่เป็นของตนเอง โดยไม่ปฏิเสธการแพทย์สมัยใหม่ ส่งบุคลากรมากมายไปร่ำเรียนจากโลกตะวันตก จึงเห็นความพยายามในการผสมผสานระหว่างการแพทย์ตะวันตกกับการแพทย์แผนจีนเข้าด้วยกัน
และหนึ่งในความพยายามสำคัญก็ได้แก่ การพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้นใช้ภายในประเทศ โดยอาศัยประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่รุดหน้า และการดึงดูดการลงทุนของกิจการข้ามชาติจากต่างประเทศ
และเมื่อเร็วๆ นี้ จีนก็สร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการประสบความสำเร็จในการผลิต MRI โดยอาศัยเทคโนโลยีของตนเอง ...
MRI มีชื่อเต็มว่า “Magnetic Resonance Imaging” เป็นเครื่องสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุความเข้มสูง ถูกคิดค้นขึ้นโดย บลอช (Bloch) และเพอร์เซลล์ (Purcell) เมื่อปี 1971 หรือกว่า 50 ปีที่แล้ว การค้นพบในครั้งนั้นทำให้ทั้งสองท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกัน
ด้วยความหลากหลายในการใช้งานทางการแพทย์ เครื่อง MRI ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและรวดเร็วมากในวงการแพทย์สมัยใหม่ในเวลาต่อมา โดยประเมินว่ามีเครื่อง MRI ถูกใช้งานทั่วโลกกว่า 25,000 เครื่องในปัจจุบัน
ความนิยมใช้เครื่อง MRI ทำให้ผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องจัดสัมมนาวิชาการ หลักสูตรพิเศษ และกิจกรรมพิเศษอื่นมากมายในหลายประเทศเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาและการใช้เครื่อง MRI อย่างแพร่หลาย
รายงานหนึ่งระบุว่า ในปี 2023 ตลาด MRI โลกมีมูลค่า 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเฉียดหลัก 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2029 ขยายตัวเฉลี่ยราว 5% ต่อปี
ขณะเดียวกัน ตลาด MRI ของจีนมีมูลค่าราว 370 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 480 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน 5 ปีข้างหน้า ขยายตัวเฉลี่ย 5.5% ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว
ในด้านคุณประโยชน์ โดยที่เครื่อง MRI ไม่ได้ใช้รังสีใดๆ ทำให้ช่วยเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการตรวจโรคร้ายแรงแก่คนไข้ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง แต่ท่านผู้อ่านที่มีประสบการณ์ตรวจด้วยเครื่อง MRI เป็นครั้งแรก นอกจากจะตื่นเต้นแล้ว ส่วนใหญ่ยังจะรู้สึกไม่สบายตัวและมีระดับความพึงพอใจต่ำในการใช้บริการ
ในกระบวนการตรวจด้วยเครื่อง MRI คนไข้ต้องเตรียมตัวด้วยการฉีดสารเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็กเข้าไปในอวัยวะที่ต้องการตรวจ ขณะเดียวกัน ระหว่างการตรวจ เครื่อง MRI จะส่งเสียงดังเป็นจังหวะ คนไข้จึงต้องใส่อุปกรณ์อุดหู
ระหว่างการตรวจ คนไข้จำเป็นต้องอยู่นิ่งๆ ในพื้นที่แคบๆ เพื่อให้บันทึกภาพ เช่นเดียวกับการตรวจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์ ลองนึกถึงคนไข้ที่ต้องนอนนิ่งๆ กระดุกกระดิกตัวไม้ได้นานนับชั่วโมง หรือถูกห้ามมิให้กลืนน้ำลายในบางขณะ
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จในการคิดค้นเครื่อง MRI ของจีนในครั้งนี้ช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์โรคภัยไข้เจ็บของคนไข้แบบรอบด้านอย่างสะดวกและรวดเร็ว สิ่งนี้ต้องยกเครดิต “เต็มๆ” ให้แก่รัฐบาลจีนและการบูรณาการของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่สนับสนุนด้านการเงิน บุคลากร และทรัพยากรอื่นในระยะแรกของการพัฒนา
โดยในปี 2022 สถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเซินเจิ้น (Shenzhen Institute of Advanced Technology) ภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเครื่อง MRI สายพันธุ์มังกร ได้รับเงินสนับสนุนถึง 3,300 ล้านหยวน
ในจำนวนนี้ ราว 17% มาจากกองทุนของหน่วยงานภาครัฐ และอีก 83% มาจากความร่วมมือทางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากในประเทศอื่น
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ยังเข้าไปทำงานในอาคารเดียวกันที่มีชื่อว่า “ศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมวิศวกรรมชีวภาพ (Shenzhen Engineering Biological Industry Innovation Center) ซึ่งช่วยลดช่องว่างและระยะห่างระหว่างนักวิจัยกับความต้องการของตลาด
คณะนักวิจัยและผู้ประกอบการที่มีห้องทำงานใกล้ชิดติดกันกลายเป็น “เพื่อนบ้าน” กันไปโดยปริยาย ทำให้สามารถพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดระหว่างกันได้อย่างสะดวก ส่งผลให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงาน และความรวดเร็วในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม
มิติด้านคุณภาพคือคำถามที่หลายคนสนใจ ภายหลังเครื่อง MRI ของจีนได้ถูกนำมาทดลองใช้ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยปักกิ่งแห่งเซินเจิ้น (Peking University Shenzhen Hospital) ระยะเวลาหนึ่ง ก็พบว่า คุณภาพของภาพสแกนที่ได้มิได้ด้อยไปกว่าของเครื่อง MRI ขั้นสูงของต่างประเทศ
และเมื่อเปรียบเทียบภาพเนื้องอกที่ถ่ายจากอุปกรณ์ยุคเดิมก็พบว่า อุปกรณ์ MRI ของจีนไม่เพียงให้ภาพที่มีคมชัดและมีความละเอียดสูงเท่านั้น แต่ยังทำงานด้วยความเร็วอีกด้วย ทำให้แพทย์สามารถจับตำแหน่งของเนื้องอกได้แม่นยำยิ่งขึ้น
รองผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์และสุขภาพ (Institute of Biomedical and Health Engineering) ภายใต้ SIAT ยังให้ข้อมูลด้านเทคนิคไว้อย่างน่าสนใจว่า กระบวนการ MRI แบบเก่าเหมือนกับการถ่ายภาพทีละภาพ หากเป้าหมายขยับเพียงเล็กน้อย ภาพสุดท้ายจะไม่ชัดเจน แต่ด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่รวดเร็วเหมือนกับการสร้างภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่จึงไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับเนื้อเยื่อที่เคลื่อนไหว และยังสามารถดูได้ว่า เนื้อเยื่อมีสภาพเช่นไรเมื่อมันเคลื่อนไหว
นอกจากนี้ SIAT ยังพัฒนาเครื่องสแกนด้วยอัลตราซาวด์ที่สามารถตรวจพบความผิดปกติของตับ หน้าอก และอวัยวะอื่นได้ในระยะต้น ซึ่งทำให้สามารถรักษาให้หายได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน อุปกรณ์การตรวจระบบประสาทด้วยอัลตราซาวด์ก็ถูกพัฒนาและเริ่มทดลองใช้ ซึ่งส่วนหลังนี้เป็นประโยชน์ต่อการตรวจรักษาโรคพาร์กินสัน ลมบ้าหมู และอัลไซม์เมอร์
คำถามถัดมาก็คือ ค่าใช้จ่ายเป็นเช่นไร แม้ว่าข้อมูลจากหลายแหล่งระบุว่า ตลาดเครื่อง MRI มีระดับการแข่งขันสูง โดยมีผู้เล่นหลัก อาทิ Siemens Healthineers, GE Healthcare, Canon Medical Systems, และ Philips Healthcare ที่ครองสัดส่วนตลาดโลกไว้เกือบทั้งหมด
แต่เทคโนโลยีการผลิตก็ยังมีลักษณะที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในบางประเทศเท่านั้น ทำให้เครื่อง MRI มีราคาสูง ส่งผลให้ค่าบริการตรวจ MRI ที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายสูงตามไปด้วย และเป็นภาระทางการเงินแก่โรงพยาบาลและคนไข้อยู่มาก ทำให้คนไข้จำนวนมากไม่อาจเข้าถึงบริการดังกล่าวได้
แต่ภายหลังจีนได้คิดค้นและผลิตเครื่อง MRI จำนวนมากแบบ Mass Production ออกสู่ท้องตลาดก็เป็นการยุติการผูกขาดด้านเทคโนโลยีของบางประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน
ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เครื่อง MRI สายพันธุ์มังกรที่มีราคาต่ำกว่า จะช่วยลดค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยลงได้อย่างแน่นอน นั่นหมายความว่า เครื่อง MRI ของจีนจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่คนไข้ในอนาคต
ในกรณีของจีนและประเทศที่ดำเนินนโยบายการสาธารณสุขถ้วนหน้าหรือคล้ายคลึง รัฐบาลที่เกี่ยวข้องก็น่าจะสามารถประหยัดงบประมาณด้านการสาธารณสุข ลดระดับการพึ่งพาการนำเข้าหรือมีทางเลือกในการจัดซื้อ และขยายบริการและยกระดับความพึงพอใจแก่ประชาชนได้ในวงกว้าง
การคิดค้นเครื่อง MRI เจนใหม่ของจีนในครั้งนี้จะก่อประโยชน์อย่างมากต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีการแพทย์ของโลก
ต้องถือว่าจีนนี่สุดยอดแห่งนักประดิษฐ์จริงๆ เพราะสามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง จากรถไฟฟ้า รถไร้คนขับ เครื่องบินพาณิชย์ รถไฟความเร็วสูง รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า สู่เครื่องมือทางการแพทย์ และผมเชื่อมั่นว่า เครื่อง MRI จะไม่ใช่สิ่งสุดท้ายอย่างแน่นอน ...
ภาพจาก: Chinese Academy of Sciences
ที่มาข้อมูล : -