

สรุปข่าว
จีนจะเดินหน้าอย่างไรในการพัฒนาชนบทในปีมังกร (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
“ขอให้ท่านผู้อ่านเปิดศักราชใหม่พร้อมกับความสุขทั้งกายและใจนะครับ” แต่ในปีมังกร จีนก็ยังมี “งานใหญ่” มากมายรออยู่ หนึ่งในนั้นได้แก่ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทอย่างเต็มกำลัง ...
ท่านผู้อ่านคงทราบกันดีว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รายได้ของผู้คนในพื้นที่ชนบทขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าของคนในชุมชนเมือง แต่การเพิ่มรายได้ของคนในชนบทก็ยังเป็น “การเดินทางไกล” ที่จีนต้องมุ่งมั่นทำต่อไป
โดยขณะที่เรากำลังเตรียมฉลองปีใหม่สากลกัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็จัดประชุมคณะทำงานกลางด้านชนบท (Central Rural Work Conference) วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและความท้าทายที่จะต้องเผชิญในการเดินหน้าพัฒนางานด้านการเกษตร พื้นที่ชนบท และเกษตรกรในปี 2024
สี จิ้งผิง ผู้นำจีนกล่าวในระหว่างการเป็นประธานที่ประชุมว่า “... เรียนรู้จากประสบการณ์ของโครงการฟื้นฟูชนบทสีเขียว (Green Rural Revival Program) พยายามดําเนินนโยบายเฉพาะ ทําตามขั้นตอนที่มั่นคงเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาความก้าวหน้าและบรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การเตรียมภารกิจเพื่อพัฒนาการฟื้นฟูชนบทแบบทั่วกระดาน และส่งเสริมความทันสมัยของชนบทในปี 2024 ซึ่งครอบคลุมถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร การดํารงชีวิตของผู้คนในชนบท และการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเกษตรกรรม
สี จิ้นผิงเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ชามข้าวจีนต้องเต็มไปด้วยอาหารจีน” สิ่งนี้สะท้อนว่า การรักษา “ชามข้าว” และ “ความมั่นคงด้านอาหาร” ของจีนนับเป็น “ความปรารถนาทางการเมือง” และเป็นเป้าหมายที่ท้าทายยิ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ภาพจาก AFP
เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนมีระดับการพึ่งพาตนเองด้านอาหารที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 93.6% ในปี 2000 เหลือเพียง 65.8% ในปี 2020 ทำให้จีนต้องพึ่งพาการนําเข้าอาหารที่มากขึ้นโดยลำดับ
ทั้งนี้ ในปี 2022 จีนนําเข้าธัญพืชสูงถึง 140 ล้านตัน นับเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารรายใหญ่สุดของโลก แถมยังนำเข้ามากที่สุดจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่กรณีสงครามการค้า (Trade War) ในช่วงหลายปีหลังอีกด้วย
ที่ประชุมคณะทำงานกลางฯ จึงเน้นย้ําถึงการผลิตธัญพืชและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สําคัญ อันได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และพืชตระกูลถั่ว โดยให้คํามั่นว่าจะรักษาเสถียรภาพพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตธัญพืชต่อไร่
โดยในชั้นนี้ จีนกำหนดเป้าหมายผลผลิตธัญพืชในปี 2024 ไว้ที่มากกว่า 650 ล้านตัน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างการคุ้มครองและพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกอย่างเข้มแข็ง ปรับแต่งกลไกการประสานงานในการปกป้องปริมาณ คุณภาพ และระบบนิเวศของพื้นที่เพาะปลูก และการพัฒนาเกษตรทันสมัยอย่างจริงจังต่อไป
เป้าหมายมากกว่า 650 ล้านตันดังกล่าวนับว่าอยู่ในระดับเดียวกับเป้าหมายผลผลิตในปี 2023 ซึ่งทำสถิติแตะระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่กว่า 680 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 ติดต่อกัน
ประเด็นหลังนี้ถือเป็นความสำเร็จที่จีนภาคภูมิใจ ถึงขนาดว่าผู้นำจีนหยิบยกไปกล่าวในการอวยพรปีใหม่เมื่อวันสิ้นปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ส่วนสำคัญของความสำเร็จเกิดขึ้นจากการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเกษตรในช่วงที่ผ่านมา จนนำจีนสู่ “เกษตรทันสมัย”
ภาพจาก AFP
ในหลายปีหลัง เราได้เห็นการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรอย่างแพร่หลาย จากสถิติพบว่า ในปี 2023 อัตราการใช้เครื่องจักรเพื่อการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวพืชผลทั่วประเทศอยู่ในระดับกว่า 73% และจํานวนเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตรที่เชื่อมโยงกับระบบดาวเทียมฯ ก็สูงถึง 1.8 ล้านหน่วย
หลายเทคโนโลยีถูกนำไปใช้อย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things) บิ๊กดาต้า ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว (BeiDou Navigation Satellite System) ที่นำไปสู่การเกษตรแม่นยํา การชลประทานอัจฉริยะ และโดรนเพื่อการป้องกันโรคพืชและแมลง
นี่สะท้อนถึงความ “อัจฉริยะ” ที่เป็นอัตโนมัติด้านการเกษตรจีนได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ในเมืองโช่วกวง (Shouguang) มณฑลซานตง เกษตรกรสามารถใช้สมาร์ตโฟนเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ ขณะที่เซ็นเซอร์ IoTs ที่ติดตั้งในเรือนกระจกก็ให้ข้อมูลสําคัญที่สามารถช่วยเกษตรกรควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่ในนครฝูโจว (Fuzhou) เมืองเอกของมณฑลฝูเจี้ยน ทางตอนใต้ของจีน เกษตรกรสามารถสำรวจพื้นที่เพาะปลูกด้วยแอปพลิเคชันในมือถือที่แจ้งเตือนเกี่ยวกับการก่อสร้างที่ผิดกฎหมายบนที่ดินของพวกเขา
เมล็ดเรพซีด (Rapeseed) ชนิดใหม่ที่วงจรการเพาะปลูกที่สั้นลง แต่สามารถเพิ่มผลผลิตน้ำมันได้ ก็ได้รับการปลูกอย่างกว้างขวางในจีอัน (Ji’An) มณฑลเจียงซี ทางตอนใต้ของจีน
นอกเหนือจากการอัพเกรดอุปกรณ์การเกษตรแล้ว นักวิจัยยังพัฒนาการเพาะปลูกสายพันธุ์ทางการเกษตรใหม่อีกด้วย ในปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนากุ้งขาว 12 สายพันธุ์ใหม่ และไก่เนื้อสายพันธุ์ใหม่ที่คิดเป็นกว่า 20% ของตลาดการบริโภคภายในประเทศ
การแก้ไขปัญหาการสูญเสียที่ดินเพื่อการเพาะปลูกเป็นอีกภารกิจสำคัญที่จีนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อันที่จริง จีนนับว่ามีพื้นที่เพาะปลูกน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรโดยรวม
กล่าวคือ จีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ในเชิงภูมิศาสตร์ แต่ก็มีความหลากหลายเชิงภูมิศาสตร์ โดยจีนมีที่ราบสูงอยู่ในวงกว้างที่ทอดยาวจากเทือกเขาหิมาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณซีกตะวันตกของจีน อาทิ ทิเบต ชิงไห่ ซินเจียง และเฉิงตู
ในอดีต พื้นที่เหล่านี้ถูกใช้เพื่อการทำปศุสัตว์แบบโยกย้ายถิ่นฐาน ทำให้ไม่มีใครสนใจดูแลรักษาคุณภาพของดิน เวลาผู้คนมีโอกาสไปท่องเที่ยวในพื้นที่นอกเมืองในย่านนั้น ก็อาจจะตื่นตาตื่นใจไปกับฝูงสัตว์นานาชนิดที่เลี้ยงอยู่ในทุ่งหญ้าสองฟากฝั่งถนน โดยไม่ทันนึกถึงปัญหาคุณภาพดินที่เสื่อมโทรมโดยลำดับ
แล้วรัฐบาลจีนดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินเพิ่อการเพาะปลูก เราไปคุยกันต่อในตอนหน้า ...
ภาพจาก AFP
ที่มาข้อมูล : -