
🔴 มัทฉะขาดตลาดที่ญี่ปุ่นอย่างจริงจัง ไม่ได้เป็นเพียงกระแสที่มาแล้วก็ไป
ความชอบมัทฉะของคนทั่วโลกไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสมาแล้วก็ไป แต่มันกลายเป็นเครื่องดื่มกระแสหลักที่คนทั่วโลกนิยมดื่มมากขึ้น จนทำให้ผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ และทำให้เกิดปัญหาขาดตลาดที่ญี่ปุ่นอย่างจริงจัง เป็นปัญหาความต้องการมากกว่าสิ่งที่มีอยู่ หรือมี demand มากกว่า supply
ปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา หรือตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เมื่อบริษัทชาในเกียวโตชื่อดังอย่าง Ippodo และ Marukyu Koyamaen ประกาศจำกัดการซื้อมัทฉะผงละเอียดเป็นครั้งแรก ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวและชาวญี่ปุ่นพบว่า ร้านค้าหลายแห่งหมดสต็อกผลิตภัณฑ์บางรายการ จากทั้งสองบริษัทและบริษัทอื่น ๆ

สรุปข่าว
🔴 คนนิยมดื่มมัทฉะเกรดพิธีการมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์ที่ขาดแคลนหรือหมดไปส่วนใหญ่คือ มัทฉะจากการเก็บเกี่ยวครั้งแรก หรือชาในรูปผงที่ทำจากใบชาครั้งแรกของ Camellia sinensis ซึ่งแต่เดิมใช้สำหรับพิธีชงชาเท่านั้น หรือเรียกว่ามัทฉะเกรดพิธีการ
แต่ปัจจุบันมัทฉะเกรดพิธีการกลายเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคต่างชาติสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน มัทฉะชนิดนี้เก็บเกี่ยวเพียง ‘ปีละครั้ง’ เท่านั้น จึงมีปริมาณที่จำกัดมาก แต่ความต้องการจากทั่วโลกก็ยังคงเติบโตสำหรับมัทฉะประเภทอื่น ๆ ด้วย
บริษัท Kametani Tea ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนารา จัดหามัทฉะจากการเก็บเกี่ยวครั้งที่สอง ครั้งที่สาม และมัทฉะจากการเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง หรือใบชาดิบที่ใช้ทำมัทฉะ จากเกษตรกรทั่วภูมิภาคตะวันตกของญี่ปุ่น นำมาผลิตเป็นมัทฉะและส่งจำหน่ายให้กับบริษัทเครื่องดื่มและพ่อค้าคนกลางทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนพนักงานต้องทำงานล่วงเวลา แม้กระทั่งในวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อตามให้ทันความต้องการ แต่นี่ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
◾️◾️◾️
🔴 ปกติคนญี่ปุ่นไม่ได้ดื่มมัทฉะเกรดพิธีการมากนัก
การผลิตมัทฉะเกรดพิธีการนั้นเก็บยาก เสียรสชาติง่าย โดยปกติแล้วมักเก็บใบชามาสต็อกก่อน แล้วค่อย ๆ ทยอยบดเป็นผง เพื่อรักษาคุณภาพ แม้ว่าการบริโภคชาเขียวและมัทฉะในญี่ปุ่นจะลดลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ประเทศอื่น ๆ กลับมีการดื่มมัทฉะมากกว่าที่เคยเป็นมา
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ระบุว่า ญี่ปุ่นผลิตมัทฉะได้ 4,176 ตันในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจาก 1,471 ตันในปี 2010 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การผลิตมัทฉะได้ถึงจุดเปลี่ยน โดยในปัจจุบัน มัทฉะกว่า 50% ของญี่ปุ่นถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ
◾️◾️◾️
🔴 คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเห็นตรงกันว่า ความสนใจในสุขภาพและการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มัทฉะได้รับความนิยมสูงขึ้น ชาชนิดนี้มีคุณสมบัติด้านสุขภาพ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ (EGCG) สูง และค่อย ๆ ปล่อยกาเฟอีนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทำให้เกิดอาการกระสับกระส่ายเหมือนที่หลายคนพบจากการดื่มกาแฟ นอกจากนี้ การดื่มมัทฉะยังเป็นตัวเลือกที่ดีมากสำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนักอีกด้วย
◾️◾️◾️
🔴 คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ช่วยเพิ่มชื่อเสียงให้มัทฉะ
การทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์เกี่ยวกับมัทฉะของนักท่องเที่ยวหรืออินฟลูเอนเซอร์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มัทฉะนั้นแพร่หลาย จนขาดตลาดแบบนี้
Yamasan บริษัทชาในจังหวัดอูจิ เผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Yamasan ได้ส่งออกมัทฉะไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ เช่น แอฟริกาและตะวันออกกลาง โดยที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นผู้บริโภคหลัก โดยพบว่าในโลกโซเชียลของพื้นที่เหล่านี้ ผู้คนเริ่มทำมัทฉะลาเต้ หรือแม้กระทั่งมัทฉะที่มีรสชาติ และเครื่องดื่มมัทฉะอื่น ๆ ผสมกับน้ำเชื่อม ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่แนวโน้มในตะวันออกกลางยังคงเติบโต
◾️◾️◾️
🔴 ทำไมญี่ปุ่นถึงไม่ผลิตเพิ่ม?
การผลิตมัทฉะมีสองส่วนหลักคือ การปลูกใบ ‘เทนฉะ’ หรือใบชาที่มีขั้นตอนการดูแลอย่างดีก่อนนำไปบดเป็นมัทฉะ และการบดใบเป็นผง ‘มัทฉะ’ ทั้งสองขั้นตอนมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเพิ่มได้อย่างรวดเร็ว
ในญี่ปุ่นเองไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เพิ่มขึ้นในการปลูกชามากขึ้น เกษตรกรบางรายสามารถซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อปลูกต้นชาได้ แต่ต้นชาต้องใช้เวลาในการเติบโตถึง 5 ปี ดังนั้น แม้เกษตรกรจะเริ่มขยายพื้นที่ปลูกตอนนี้ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนได้ทันที
หลังจากเก็บเกี่ยวและตากแห้งใบชาแล้ว ก็ต้องนำมาบดเป็นผง เนื่องจากมัทฉะเสื่อมสภาพเร็วหลังจากบด จึงควรเก็บใบเทนฉะทั้งใบ แล้วบดเมื่อจำเป็น ไม่ควรบดใบชาในปีนั้นทั้งหมดทันที
เครื่องบดนั้นจะบดช้า ๆ หนึ่งเครื่องสามารถบดได้เพียง 40 กรัมต่อชั่วโมง ซึ่งเพียงพอสำหรับการทำมัทฉะลาเต้ 10-12 แก้วเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้ประกอบการคาดว่าความต้องการมัทฉะทั่วโลกจะไม่มีท่าทีจะลดลงในเร็วๆ นี้ และความต้องการจะเพิ่มอีก 20-30% ในปี 2025 นี้ด้วย
ที่มารูปภาพ : Canva

พิชญาภา สูตะบุตร