ญี่ปุ่นทดลองหุ่นยนต์ AI ดูแลผู้สูงอายุติดเตียง แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานดูแลผู้สูงอายุ

หุ่นยนต์มนุษย์  AIREC สัญชาติญี่ปุ่น มีน้ำหนัก 150 กิโลกรัม เป็นต้นแบบของ ‘ผู้ดูแล’ ในอนาคตสำหรับสังคมที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่น และปัญหาการขาดแคลนแรงงานดูแลผู้สูงอายุ โดยเมื่อไม่นานมานี้ที่กรุงโตเกียว หุ่นยนต์ AI ตัวนี้ถูกทดลองให้พลิกตัวคน ซึ่งเป็นท่าทางที่ใช้ในการเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือป้องกันแผลกดทับในผู้สูงอายุ

ญี่ปุ่นทดลองหุ่นยนต์ AI ดูแลผู้สูงอายุติดเตียง แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานดูแลผู้สูงอายุ

สรุปข่าว

ญี่ปุ่นทดลองใช้หุ่นยนต์ AI ชื่อว่า AIREC ทดลองดูแลผู้ป่วยสูงอายุติดเตียง โดยทำการทดสอบกับคนปกติก่อน โดยหุ่นยนต์นี้เป็นต้นแบบของ ‘ผู้ดูแล’ ในอนาคตสำหรับสังคมที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่น และปัญหาการขาดแคลนแรงงานดูแลผู้สูงอายุ

ศาสตราจารย์ชิเกกิ ซูกาโน จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ผู้เป็นผู้นำการวิจัย AIREC ระบุว่า ด้วยสังคมผู้สูงอายุที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และอัตราการเกิดที่ลดลง จึงต้องการการสนับสนุนจากหุ่นยนต์ในด้านการดูแลทางการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงในชีวิตประจำวัน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงที่สุดในโลก โดยมีอัตราการเกิดที่ลดลงและประชากรวัยทำงานที่หดตัวลง รวมถึงนโยบายการอพยพที่เข้มงวด

ประชากร ‘เบบี้บูมเมอร์’ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการเกิดในช่วงหลังสงครามระหว่างปี 1947-1949 จะมีอายุอย่างน้อย 75 ปีภายในสิ้นปี 2024 ซึ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานดูแลผู้สูงอายุยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

จำนวนทารกที่เกิดในปี 2024 ลดลงเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน โดยลดลง 5% เหลือเพียง 720,988 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27 ก.พ.)

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของรัฐบาล ภาคการพยาบาลก็ประสบปัญหาการหาผู้สมัครงาน โดยมีผู้สมัครเพียงหนึ่งคนสำหรับงาน 4.25 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนผู้สมัครงานต่อจำนวนตำแหน่งว่างทั่วประเทศที่ 1.22 และในอีก 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า สถานการณ์อาจจะเลวร้ายมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เทคโนโลยีคือโอกาสที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงปัญหานี้

หนึ่งในการใช้งานเทคโนโลยีการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน คือ การใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการนอน โดยใส่ไว้ใต้ที่นอนหรือใต้เตียง เพื่อเฝ้าติดตามสภาพการนอนหลับ ซึ่งช่วยลดภาระการเดินตรวจตราของพนักงานในเวลากลางคืน

หุ่นยนต์ AIREC สามารถช่วยให้บุคคลนั่งขึ้นหรือใส่ถุงเท้า ทำไข่คน พับผ้า และทำงานบ้านอื่น ๆ แต่คาดว่า AIREC จะยังไม่พร้อมสำหรับการใช้งานในสถานพยาบาลหรือการดูแลผู้สูงอายุจนกว่าจะถึงประมาณปี 2030 และจะมีราคาสูงไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเยน หรือมากกว่า 2.2 ล้านบาท

ที่มาข้อมูล : Japantimes

ที่มารูปภาพ : Reuters

avatar

พิชญาภา สูตะบุตร