ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตเด็กนักเรียนฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนใหญ่อยู่ม.ปลาย

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเปิดเผยสถิติล่าสุดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าในปี 2567 ที่ผ่านมา มีนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมปลายฆ่าตัวตายสูงถึง 527 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14 ราย ทำลายสถิติเดิมในปี 2565 ที่มีผู้เสียชีวิต 514 ราย
เมื่อแยกตามระดับการศึกษา นักเรียนมัธยมปลาย มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดที่ 349 ราย เพิ่มขึ้น 2 ราย รองลงมาคือ มัธยมต้น 163 ราย เพิ่มขึ้น 10 ราย และ ระดับประถม 15 ราย เพิ่มขึ้น 2 ราย
ที่น่ากังวลคือ อัตราการฆ่าตัวตายในเด็กผู้หญิงเพิ่มสูงขึ้น โดยมีเด็กหญิงเสียชีวิต 288 ราย เพิ่มขึ้นถึง 34 ราย ขณะที่เด็กผู้ชายอยู่ที่ 239 ราย ลดลง 20 ราย

ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตเด็กนักเรียนฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนใหญ่อยู่ม.ปลาย

สรุปข่าว

ปี 2567 ญี่ปุ่นมีนักเรียนฆ่าตัวตาย 527 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยนักเรียนมัธยมปลายมีจำนวนมากที่สุด และเด็กผู้หญิงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ตัวเลขการฆ่าตัวตายโดยรวมของประเทศลดลงเหลือ 20,268 ราย ต่ำสุดเป็นอันดับสองนับตั้งแต่ปี 2521 สาเหตุหลักมาจากปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ และครอบครัว รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งศึกษาสาเหตุเชิงลึกเพื่อหามาตรการป้องกันและช่วยเหลือเยาวชน

เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขฯ แสดงความกังวลต่อแนวโน้มดังกล่าว โดยเน้นว่าจำเป็นต้องศึกษาปัจจัยเชิงลึก เพื่อหาแนวทางป้องกันและช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังเผชิญความเครียดและปัญหาทางจิตใจ


 - จำนวนการฆ่าตัวตายโดยรวมลดลงต่ำสุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ปี 2521- 


แม้ว่าสถิติในกลุ่มนักเรียนจะเพิ่มขึ้น แต่โดยรวม จำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทั่วประเทศอยู่ที่ 20,268 ราย ลดลง 1,569 ราย นับเป็นตัวเลขต่ำสุดเป็นอันดับสองตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี 2521
- ผู้ชายฆ่าตัวตาย 13,763 ราย ลดลง 1,099 ราย นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี
- ผู้หญิงฆ่าตัวตาย 6,505 ราย ลดลง 470 ราย ติดต่อกันเป็นปีที่สอง


จากรายงานของสำนักข่าวเกียวโด สาเหตุการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มาจาก

- ปัญหาสุขภาพ 11,986 ราย
- ปัญหาเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต 5,075 ราย
- ปัญหาครอบครัว 4,334 ราย
- ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน 578 ราย
- ผลกระทบจากโซเชียลมีเดีย 42 ราย

แม้ว่าจำนวนการฆ่าตัวตายโดยรวมจะลดลง แต่แนวโน้มในกลุ่มเด็กนักเรียนกลับสวนทาง สะท้อนถึงแรงกดดันในระบบการศึกษาและสภาพแวดล้อมของเยาวชนญี่ปุ่น รัฐบาลจึงต้องเร่งหามาตรการป้องกันและสนับสนุนสุขภาพจิตของนักเรียนให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงนี้


ที่มาข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น

ที่มารูปภาพ : AFP

แท็กบทความ

ญี่ปุ่น
นักเรียนญี่ปุ่น
ปัญหาความเครียดญี่ปุ่น
ฆ่าตัวตาย
สถิติฆ่าตัวตายญี่ปุ่น