

สรุปข่าว
นายกรัฐมนตรีโยนาส การ์ สเตอร์ ของนอร์เวย์ เปิดเผยว่า นอร์เวย์เตรียมให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์ ด้วยความหวังว่าจะช่วยนำสันติภาพมาสู่ภูมิภาคโดยกล่าวว่า ชาวปาเลสไตน์มีสิทธิขั้นพื้นฐานและมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเอง ส่วนชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ต่างมีสิทธิในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในรัฐของตน และกล่าวเสริมว่า ‘จะไม่มีสันติภาพในตะวันออกกลางหากไม่มีวิธีแก้ปัญหาแบบสองรัฐ และจะไม่มีวิธีแก้ปัญหาแบบสองรัฐหากไม่มีรัฐปาเลสไตน์’
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีไซมอน แฮร์ริส ของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ กล่าวว่า ไอร์แลนด์จะรับรองรัฐปาเลสไตน์ เนื่องจากเชื่อว่า สันติภาพถาวรสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเจตจำนงเสรีของประชาชนที่เสรีเท่านั้นโดยระบุถึงการที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ลงมติอย่างท่วมท้นกว่า 143 เสียง เพื่อสนับสนุนให้ปาเลสไตน์มีสิทธิพิเศษเทียบเท่าสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชส ของสเปนได้ประกาศว่ารัฐบาลสเปนจะประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์ในวันที่ 28 พ.ค. นี้ ด้วยเหตุผล 3 ข้อ ได้แก่สันติภาพ ความยุติธรรม และความสม่ำเสมอ โดยจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐได้รับการเคารพ และต้องรับประกันความปลอดภัยร่วมกัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจาเพื่อสันติภาพ
ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้อิสราเอลอย่างมาก ล่าสุด กระทรวงต่างประเทศอิสราเอลออกแถลงการณ์ เรียกเอกอัครราชทูตกลับจากนอร์เวย์และไอร์แลนด์ให้เดินทางกลับทันที เพื่อเข้ารับการปรึกษาหารืออย่างเร่งด่วน และเตือนว่า การประกาศนโยบายที่บ้าบิ่นของทั้งสองประเทศ มีแต่จะยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงตามมา แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศอิสราเอล ระบุด้วยว่า หากสเปนดำเนินการแบบเดียวกัน รัฐบาลเทลอาวีฟจะใช้มาตรการตอบโต้ระดับเดียวกับนอร์เวย์และไอร์แลนด์
จนถึงขณะนี้มีรัฐสมาชิกสหประชาชาติ 143 รัฐ จาก 193 รัฐ ให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์ ขณะที่ประเทศในยุโรปมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่แตกต่างออกไป เช่นสวีเดน ที่ให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์เมื่อสิบปีก่อน ส่วนฝรั่งเศสยังไม่มีแผนที่จะทำเช่นนั้น เว้นแต่วิธีการดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างสันติภาพ
ข้อมูลจาก: รอยเตอร์
ภาพจาก: รอยเตอร์
ที่มาข้อมูล : -